วันที่ 20 เมษายนของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาว “สยามรัฐ” ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ด้วยเป็นวันที่รำลึกถึงคุณูปการของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ผู้มีบทบาทโดดเด่นหลากหลายต่อประเทศไทย และได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้นได้ถวายงานมากมาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และที่จะได้นำมากล่าวถึงในบทบรรณาธิการนี้ เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สะท้อนความเป็นอัจฉริยะเก่งรอบด้านของ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ดังได้ตัดตอนมาจากหนังสือ “พระราชอารมณ์ขัน” ของ วิลาศ มณีวัต ตอน “พระราชอารมณ์ขันนั้นหลายหลาก” มานำเสนอดังนี้
“คนหนังสือพิมพ์อเมริกันนั้น ขึ้นชื่อว่าดุ และไม่ค่อยจะรู้จักที่ต่ำที่สูง แถมยังก้าวร้าวอีกด้วย แม้กระทั่งจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่อย่างครุสชอฟ เมื่อถึงคราวต้องไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สื่อข่าวอเมริกัน ยังอดครั่นคร้ามไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลจึงได้จัดส่งบุคคลผู้หนึ่งไปชี้แจงทำความเข้าใจกับบรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันเสียชั้นหนึ่งก่อน เท่ากับเป็นการปูพื้นพอให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันได้ทราบถึงฐานะอันแท้จริงของพระเจ้าแผ่นดินไทย ว่ามิใช่เป็นเทพเจ้า แต่ก็ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาราษฎร ทั้งที่เป็นชาวพุทธ มุสลิม และคริสต์ เพราะในประเทศไทยนั้นทุกศาสนา ทุกนิกาย ต่างก็สามารถเผยแพร่ศาสนาของตนได้โดยอิสระเสรี
ในด้านประชาชน ก็ได้เสด็จฯออกเยี่ยมราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมด้วยแผนที่ขนาดใหญ่ในพระหัตถ์ ทรงหาแหล่งน้ำช่วยเกษตรผู้ยากจนของพระองค์ จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างล้นพ้นจากชาวบ้านที่ยากจนทั่วไป
งานของบุคคลผู้นี้ ในการไปทำความเข้าใจกับนักหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เรียกกันว่าเป็นงานประชาสัมพันธ์และทางรัฐบาลก็เห็นว่าไม่มีใครจะเหมาะยิ่งไปกว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชี้แจงให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีฐานะอยู่เหนือการเมืองจึงไม่บังควรที่จะกราบบังคมทูลถามเรื่องการเมือง
“ถ้าหากจะกราบบังคมทูลถามเรื่องละคร The Kingand 1 จะถามได้ไหม?"
นักข่าวหนุ่มคะนองคนหนึ่งซักม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
"ไม่แปลกอะไร คุณกราบบังคมทูลถามได้"
คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบ "ดีเสียอีก คุณจะได้ทราบว่าคิงมงกุฎจริง ๆ นั้นหาได้เป็นตัวตลกอย่างในละครเรื่องนั้นไม่ แท้จริงทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ดีกว่าพวกคุณหลาย ๆ คนเสียอีกและทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอันมาก"
นักข่าวตะลึง จดกันใหญ่
เนื่องด้วย ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ไปปูพื้นกรุยทางไว้ก่อนเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯถึงอมริกา พวกหนังสือพิมพ์จึงยับยั้งไม่กล้ากราบบังคมทูลสัมภาษณ์เรื่องการเมือง แต่ได้กราบบังคมทูลถามความรู้สึกส่วนพระองค์ ว่า
"นี่เป็นการเสด็จฯเยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก...ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง?"
มีพระราชดำรัสตอบว่า "ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่...ที่เมืองบอสตัน"
คงจะเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลก ที่จะสามารถตรัสได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าทรงมีพระราชสมภพที่อเมริกาข้อความนี้ช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกเคารพรักและมีความใกล้ชิดกับพระองค์ขึ้นมาทันที เพราะพระองค์มิใช่"คนต่างประเทศ"หากแต่เป็น "คนบอสตัน" คนหนึ่ง”