รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นับตั้งแต่โควิด-19 มาเยือน มีผลกระทบต่อเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย ดังนี้ เทศกาลสงกรานต์ ปี 2563 ...ปีแรกที่โควิด-19 ระบาดทั้งปี ส่งผลให้ครม.ต้องประกาศเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ออกไปเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ไม่มีประเพณีสงกรานต์ สวนดุสิโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ทางออนไลน์ จำนวน 1,648 คน เป็นเวลา 4 วัน ช่วงวันหยุดสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 10-13 เม.ย 2563 ใน 5 ประเด็น ได้แก่ ความสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ การเดินทางกลับภูมิลำเนา การปฏิบัติตัวขณะที่มี โควิด-19 การจับจ่ายซื้อสิ่งของ และพรที่อยากขออยากได้ ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นไว้ ดังนี้ • ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ “เทศกาลสงกรานต์” 38.90% (อันดับ 1) ไม่ให้ความสำคัญเลย 27.06% (อันดับ 2) ค่อนข้างให้ความสำคัญ 19.48% (อันดับ 3) และไม่ให้ความสำคัญมาก 14.56% (อันดับ 4) • ประชาชนไม่กลับภูมิลำเนาไปหาพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ 84.53% แต่มีประชาชนที่กลับภูมิลำเนา 15.47% • ประชาชนปฏิบัติตัวในเทศกาลสงกรานต์คือ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน 58.74% (อันดับ 1) ทำอาหารกินเองที่บ้าน 51.64% (อันดับ 2) ติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์ 48.73% (อันดับ 3) กราบไหว้และขอพรพ่อแม่/ญาติผู้ใหญ่ (อยู่บ้านเดียวกัน) 35.01% (อันดับ 4) และทำงานตามปกติ 33.25% (อันดับ 5) • ประชาชนไม่จับจ่ายซื้อสิ่งของอะไรเลย 55.58% (อันดับ 1) ซื้อพวงมาลัย/ดอกมะลิ 25.36% (อันดับ 2) ซื้อน้ำอบไทย 23.00% (อันดับ 3) ซื้ออาหารกินมื้อพิเศษ 16.44% (อันดับ 4) และซื้อกระเช้าผลไม้/อาหารบำรุงร่างกาย 7.16% (อันดับ 5) • ประชาชนขอให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต 77.97% (อันดับ 1) ขอให้สุขภาพแข็งแรง 72.57% (อันดับ 2) ขอให้คิดค้นยารักษาโควิด-19 ได้ 58.50% (อันดับ 3) ขอให้มีความสุข 49.15% (อันดับ 4) และขอให้การงานดี มีความก้าวหน้า 39.26% (อันดับ 5) ส่วนเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ปีที่ 2 ของโควิด-19 ระบาดทั้งปี รัฐบาลเน้นการจัดงานแบบ “ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ” ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งแรกในสถานการณ์โควิด -19 เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ฉลองเทศกาลสงกรานต์ไปพร้อม ๆ กับมาตรการควบคุมโรคระบาด สวนดุสิโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์ จำนวน 1,324 คน เป็นเวลา 7 วันก่อนวันหยุดยาว ระหว่างวันที่ 3-9 เม.ย 2564 ใน 5 ประเด็น ได้แก่ การเข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ กิจกรรมที่ปฏิบัติ สิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติ ค่าใช้จ่าย และการให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นไว้ ดังนี้ * ประชาชนไม่เข้าร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ที่จัดขึ้น 43.88% ไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วม 33.31% และเข้าร่วม 22.81% * ประชาชนกลับภูมิลำเนา 76.25% (อันดับ 1) ไปวัดทำบุญ 68.99% (อันดับ 2) ทำความสะอาดบ้าน/หิ้งพระ 67.08% (อันดับ 3) ร่วมเทศกาลสงกรานต์/สาดน้ำ ประแป้ง 63.47% (อันดับ 4) และไปเที่ยวกับครอบครัว 45.05% (อันดับ 5) * ประชาชนยึดถือและปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ รดน้ำดำหัวเฉพาะผู้ใหญ่ในครอบครัว 64.28% (อันดับ 1) อยู่บ้านใช้เวลากับครอบครัว 63.28% (อันดับ 2) ตักบาตรทำบุญ 52.50% (อันดับ 4) และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย 37.64% (อันดับ 5) * ประชาชนคิดว่าจะใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท 55.86% (อันดับ 1) ใช้จ่าย 3,001-5,000 บาท 25.49% (อันดับ 2) และใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาท 18.65% (อันดับ 3) * ประชาชนให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ เท่าเดิม 57.63% (อันดับ 1) ให้ความสำคัญน้อยลง 30.51% (อันดับ 2) และให้ความสำคัญมากขึ้น 11.86% (อันดับ 3) เมื่อเปรียบเทียบผลโพลความคิดเห็นของประชาชนหัวข้อ “สงกรานต์” ยุคโควิด-19 ปี 2563 และ 2564 จะเห็นว่า ปี 2563 ปีแรกของการระบาดโควิด-19 ประชาชนไม่กลับภูมิลำเนาไปหาพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ 84.53% แต่ในปี 2564 ปีที่ 2 ของการระบาด ประชาชนกลับภูมิลำเนา 76.25% สิ่งที่ประชาชนนิยมปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปี 2563 คือ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน 58.74% แต่ในปี 2564 คือ รดน้ำดำหัวเฉพาะผู้ใหญ่ในครอบครัว 64.28% และปี 2563 ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ 38.90% แต่ในปี 2564 ประชาชนให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ เท่าเดิม 57.63% สาเหตุที่เทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนามาก เพราะรัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ ต่างกับเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ที่ประชาชนไม่ได้กลับภูมิลำเนาเนื่องจากถูกงด แม้ว่าจะมีโควิด-19 ระบาด แต่วันสงกรานต์ก็เป็นเทศกาลที่ประชาชนให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ทำอาหารกินกันเองที่บ้าน ฯลฯ เนื่องจากสงกรานต์ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทยที่สำคัญและยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน เมื่อการรวมตัวของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นสิ่งที่ต้องมี ทุกคนก็ต้องระมัดระวังตนเองตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ฯลฯ เพราะตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังสูง วันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย 2565 นี้ หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มใหม่ของความสุข ความสนุก ความรื่นเริง ความสดชื่น และความรุ่งเรืองมาสู่คนไทยทุกครอบครัว แม้ว่ายังเป็นปีที่โควิด-19 ระบาดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมสายพันธุ์ไขว้กัน “ตระกูล X” อาทิ XD XE XJ เป็นต้น