ทวี สุรฤทธิกุล
คนกรุงเทพฯเป็นคน “เรื่องมาก” เอาใจยาก และคาดเดาการตัดสินใจก็ยาก
สังคมคนกรุงเทพฯ น่าจะเรียกแบบบ้าน ๆ ว่าเป็น “สังคมร้อยพ่อพันแม่” เพราะมีผู้คนมาอยู่ในกรุงเทพฯจากทุกสารทิศ ตั้งแต่หลังกึ่งพุทธกาลที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร โรงงานและอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ มารวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ แรงงานต่าง ๆ จึงหลั่งเข้ามาจากทั่วประเทศ กรุงเทพฯจึงเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงงานในบ้านและงานที่ต่อเนื่อง เช่น คนขับรถรับจ้าง สามล้อ ตุ๊ก ๆ และแท็กซี่ แม้แต่พระสงฆ์ คนต่างจังหวัดก็เข้ามาบวชอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมีโยมมาใส่บาตรอุดมสมบูรณ์กว่า คนเหล่านี้แรก ๆ ก็มาเช่าบ้านอยู่บ้าง อยู่ตามชุมชนแออัดบ้าง รวมถึงที่บุกรุกที่สาธารณะ เช่น ริมคูคลอง ใต้สะพาน และที่รกร้าง เป็นที่ซุกหัวนอน กรุงเทพฯจึงไม่ได้เป็นเพียงเมืองที่สุดจะแออัด แต่ยังเป็นเมืองที่มีปัญหามากมายและวุ่นวายยุงเหยิงเป็นที่สุดอีกด้วย
ผู้เขียนจำได้ว่าในปี 2528 ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผู้เขียนมีสิทธิ์ได้ลงคะแนนเป็นครั้งแรกนั้น มีการเปรียบเทียบว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็คือ “นายกฯน้อย” หรือมีบทบาทหน้าที่น้อง ๆ นายกรัฐมนตนีของประเทศไทยนั่นเลยทีเดียว เพราะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาของคนกรุงเทพฯจำนวนมหาศาล พร้อมกับที่ต้องดูแลงบประมาณมากเป็นหมื่น ๆ ล้าน มากกว่าหลาย ๆ กระทรวงของประเทศ รวมถึงที่ต้องดูแลผู้คน 5 ล้านกว่าคน (จำนวนประชากรในช่วงนั้น) และในท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ที่มีมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2522 ก็ทำให้คนกรุงเทพฯค่อนข้างจะมีข้อเรียกร้องต่าง ๆ มากมายเช่นกัน โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่า นักการเมืองคือผู้รับใช้ประชาชน และนี่ก็คือ “จุดขาย” ของผู้สมัครอย่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือ “มหา 5 ขัน” (ว่ากันว่าท่านอาบน้ำวันละครั้งเดียว โดยใช้น้ำเพียง 5 ขัน และไม่ใช้สบู่อีกด้วย ใช้เพียงใยบวบตากแห้งหรือใยแห้งของพืชอื่น ๆ เช่น มะพร้าว เอามาขัดถูขี้ไคลและครบเหงื่อเท่านั้น)
อย่างที่ได้บอกมาแล้วว่า มหาจำลองท่าน “โด่งดัง” มาตั้งแต่ที่เป็นแกนนำยังเติร์ก ที่มีส่วนในการผลักดันพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2523 ต่อมาพลเอกเปรมก็แต่งตั้งให้ท่านเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทหน้าที่สูงมาก ได้แสดงผลงานต่าง ๆ ไว้มาก โดยเฉพาะการต่อต้านกฎหมายการทำแท้ง อันนำมาสู่ชื่อเสียงอันเลื่องลือเพราะได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการผลักดันให้กฎหมายทำแท้งเข้าสู่สภา จากนั้นท่านก็ออกมาทำงานในทางสาธารณะ ด้วยการแสดงบาบาทที่เป็นผู้เคร่งศีลธรรม และพยายามสร้างเสริมศีลธรรมอันดีในสังคม ร่วมกับที่ท่านกินอยู่และแต่งกายอย่างสมถะ ทำให้กลายเป็น “แบรนด์การเมือง” อันโดดเด่นขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น
การที่มหาจำลอง “ดอด” เข้ามาพบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่บ้านสวนพลูอยู่บ่อย ๆ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2528 แม้ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะไม่ได้เล่าให้ใครต่อใครฟังว่าพูดคุยกับมหาจำลองเรื่องอะไร แต่ผู้เขียนก็ขอวิเคราะห์โดยคาดเดาจากการที่อยู่ในเหตุการณ์และพอรู้นิสัยใจคอท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่บ้าง ว่าน่าจะพูดคุยกันเรื่องของ “บ้านเมือง” อย่างน้อยก็ใน 2-3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ
เรื่องแรก ความต้องการของมหาจำลองที่จะเล่นการเมืองในระดับชาติ เพราะในช่วงเวลานั้นมหาจำลองก็มีการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทำอะไรออกมาโฉ่งฉ่าง นี่ก็คงจะเป็นกลยุทธ์การเมืองที่มหาจำลองอาจจะได้เรียนรู้มาจากนักการเมืองหรือคนอื่น ๆ ที่รวมถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่คงจะให้ข้อแนะนำอะไรบางอย่างอีกด้วย โดยมหาจำลองได้สร้างกลุ่มการเมืองของตนเองขึ้นมาไว้ด้วย คือ “กลุ่มรวมพลัง” ที่เริ่มจากการรวมตัวกันของญาติโยมจากสำนักสันติอโศก และผู้คนที่เลื่อมใสในการทำงานการเมืองของมหาจำลอง ที่เน้นการเมืองที่ใสสะอาด ไม่โกงไม่กิน และนอบน้อมถ่อมตน (ในขณะที่นักการเมืองส่วนมากจะยโสโอหัง อวดดี อยากดัง ก้าวร้าว วางก้าม และชอบใช้อำนาจ) ดังนั้นมหาจำลองอาจจะมาขอคำแนะนำต่าง ๆ จากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้ได้ฉายาว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” อยู่ในยุคนั้น
เรื่องต่อมา อาจจะเป็นเรื่องการขอเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคกิจสังคม เพราะมีบางครั้งหลังจากที่มหาจำลองได้มาพบกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ และพอมหาจำลองกลับไปแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เรียกคนในพรรคกิจสังคมมาคุยด้วย ซึ่งผู้เขียนก็เคยได้ยินคนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกมาบางคนนั้นพูดว่า มหาจำลองอาจจะมาสร้างปัญหาในพรรคก็ได้ รวมถึงมีการวิจารณ์มหาจำลองในเรื่องต่าง ๆ บางเรื่องอีกด้วย แต่นี่ก็เป็นสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะแนวทางทำงานการเมืองของมหาจำลองกับนักการเมืองส่วนใหญ่ในพรรคกิจสังคมนั้นเป็นคนละแนว ซึ่งไม่น่าจะเข้ากันได้
และเรื่องสุดท้าย ที่น่าจะเป็นไปได้ว่ามหาจำลองอาจจะเอามาปรึกษาหารือกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ “เรื่องของฟ้าดิน” เพราะอย่าลืมว่ามหาจำลองเป็นแกนนำทหารกลุ่มยังเติร์ก ที่สนับสนุนพลเอกเปรมขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และตอนที่ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น ก็มีหลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นด้วยเรื่องกฎหมายทำแห้ง แต่น่าจะเป็นเรื่องขอความขัดแย้งกันในรัฐบาล ที่มหาจำลองอาจจะอึดอัดในการทำงานของรัฐมนตรีหลายคน ที่มหาจำลองอาจจะไปรู้เห็นเรื่องของการทุจริต และ “ไม่ดีไม่งาม” ซึ่งก็มีข่าวในทางสื่อมวลชนปรากฏออกมาอยู่ด้วย รวมทั้งอาจจะไม่พอใจ “นาย” คือพลเอกเปรมที่หนุนหลังหรือไม่กล้าจัดการนักการเมืองเหล่านั้น ซึ่งการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรมนี้เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า เป็นไปโดย “พระราชานุญาต” อีกด้วย ดังนั้นมหาจำลองอาจจะมาปรับทุกข์ในเรื่องนี้กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ในฐานะที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ที่เคารพเทิดทูนสถาบันเป็นอย่างยิ่งในบ้านเมืองนี้
เมื่อมหาจำลองลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ไม่เคยเห็นว่าท่านจะแวะมาที่บ้านสวนพลูอีกเลย เมื่อนับคะแนนแล้ว มหาจำลองนั้นได้คะแนนถึง 6 แสนกว่าคะแนน ในขณะที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวเต็งมาตั้งแต่เริ่มต้น คือนายชนะ รุ่งแสง ได้มา 4 แสนกว่าคะแนน ซึ่งก็นับว่ามาก แต่ก็ถือว่าผิดคาดที่ต้องมาแพ้มหา 4 ขัน ก็ด้วยคนกรุงเทพฯนั้น “หมั่นไส้” ทั้งตัวพรรคผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นหัวประชาชน ทั้งยังไป “บุลลี่” มหาจำลองว่าทำตัวไม่เหมาะสมกับที่จะเป็นผู้บริหารของคนกรุงเทพฯ โดยที่ลืมไปว่าคนกรุงเทพฯกำลังเคลิ้มกับภาพลักษณ์ใหม่ของนักการเมืองที่มหาจำลองได้สร้างขึ้นแล้ว นั่นก็คือ “นักการเมืองสีขาว” กับ “นักการเมืองสีดำ” ที่นำมาสู่ชัยชนะของมหาจำลองอย่างท่วมทันดังกล่าวนั้น
อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังชัยชนะของมหาจำลองว่า “นี่แหละมนุษย์ต่างดาว ที่ไม่เคยมีอยู่ในหมู่นักการเมืองไทยมาก่อน”