เสือตัวที่ 6 ปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียภายใต้การนำของผู้นำอย่างปูตินที่มีต่อยูเครนมาระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเกือบทุกประเทศในโลกไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าของชาติตะวันตกภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลสะท้อนกลับไปที่ชาติตะวันตกหลายชาติที่ยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก จากรัสเซียเป็นหลัก และส่งผลไปยังชาติมหาอำยาจอย่างสหรัฐฯ เองในภาวะเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งได้มีผลต่อชาติต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและหลายๆ ด้านบนความไม่แน่นอนของอนาคตความขัดแย้งครั้งนี้ว่าจะจบลงที่ใดและเมื่อใด ทุกประเทศในโลกต่างเกาะติดอย่างใจหายใจคว่ำต่อความขัดแย้งครั้งนี้ว่าจะนำหายนะมาสู่คนในชาติตนในรูปแบบใด และจะต้องเตรียมรับมืออย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อชาติของตนให้น้อยที่สุดด้วยความระมัดระวังอย่างสูงในท่าทีที่ชาติทั้งหลายควรแสดงออกในภาวะอันเปราะบางระหว่างมหาอำนาจของโลกหนนี้ และท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยมีชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง ย่อมไม่ปกติธรรมดาที่ชาติขนาดกลางอย่างยูเครนจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับมหาอำนาจทางทหารอย่างรัสเซียได้อย่างยาวนานถึง 1 เดือน ซึ่งนั่น ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของผู้นำรัสเซียที่มองออกว่า ลำพังยูเครนเอง คงไม่สามารถต้านทางพลังอำนาจทางทหารอันมหาศาลของรัสเซียได้ถึงเพียงนี้ และชาติสำคัญที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังหลักๆ ก็คือสหรัฐอเมริกา ชาติที่เป็นเสมือนคู่แข่งขันกับทุกชาติที่อาจหาญทะยานขึ้นมาเทียบชั้นความเห็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ได้ เพราะความสามารถทางเศรษฐกิจและทางทหารของชาติใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในที่สุด ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนลุกลามไปสู่การปฏิบัติการพิเศษทางทหารตามคำเรียกของรัสเซียหรือที่ฝ่ายตรงข้ามรัสเซียเรียกว่าสงครามที่ไม่ชอบธรรม และยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาระหว่าง 2 ชาติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนมีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังที่ เกินกว่าที่ทุกคนเห็น ปรากฏการณ์การสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้เกิดขึ้นเมื่อชาติมหาอำนาจทางตะวันตกและสหรัฐฯ ต่างสนับสนุนให้เกิดท่าทีอันแข็งกร้าวของยูเครนในการแสดงเจตจำนงนำยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO ด้วยสร้างความหวังว่า สหรัฐฯ และตะวันตก จะสนับสนุนยูเครนทุกรูปแบบหากรัสเซียปฏิบัติการทางทหารใดๆ ในอนาคตต่อยูเครน ซึ่งนั่นคือการทำให้ผู้นำยูเครนมั่นใจในหลักประกันด้านความมั่นคงของชาติ หากรัสเซียปฏิบัติการใดๆ ต่อยูเครน ซึ่งปรากฏการณ์ต่อมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก ให้การช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนเพียงใด และยูเครนถูกใช้เป็นหมากตัวหนึ่งในการต่อกรกับรัสเซีย อย่างน้อยก็เป็นการบั่นทอนศักยภาพทางทหารและเศรษฐกิจของรัสเซียให้ลดน้อยถอยลงโดยมียูเครนเป็นตัวแสดงแทน ล่าสุดพฤติกรรมของผู้นำสหรัฐฯ ยังแข็งกร้าวเข้าใส่ผู้นำรัสเซียอย่างโจ่งแจ้งแบบไม่ต้องเกรงใจกันอีกต่อไป เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวกับฝูงชนในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ โดยมีสาระสำคัญว่า ประธานาธิบดีปูตินเป็นนักฆ่า ซึ่งไม่ควรอยู่ในอำนาจต่อไป อันเป็นการปลุกเร้าความทรงจำสี่ทศวรรษหลังม่านเหล็กของโปแลนด์ ชี้ชวนให้เห็นว่าโลกประชาธิปไตยจะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจนิยมรัสเซียโดยเร่งด่วน เพราะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและเสรีภาพของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประณามวราดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ว่าเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งถือเป็นถ้อยคำประณามปูตินที่รุนแรงที่สุดจากปากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ท่าทีดังกล่าวของไบเดน นำมาซึ่งการตอบโต้จากทางการรัสเซีย โดยระบุว่า เป็นถ้อยคำที่รับไม่ได้และให้อภัยไม่ได้ด้วย จนทำให้ประธานธิบดีปูตินสั่งโจมตีด้วยขีปนาวุธระยะไกล 4 ลูก เข้าใส่เมืองลวีฟ (Lviv) ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของยูเครน และเป็นเมืองที่พักพิงสำหรับชาวยูเครนที่พลัดถิ่นตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกราน โดยการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ เป็นการตอบโต้คำกล่าวอันรุนแรงของไบเดนต่อปูติน และท้าทายถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนโปแลนด์ ณ เมืองลวีฟ (Lviv) ที่ตั้งอยู่ห่างจากโปแลนด์เพียง 70 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยท่าทีที่ไม่ระมัดระวังของผู้นำสหรัฐฯ ยามหน้าสิ่วหน้าขวานหลายครั้งที่ผ่านมานี้ ทำให้ภาวะความรุนแรงและความขัดแย้งครั้งนี้ ขยายตัวลุกลามไปในมิติต่างๆ อีกเท่าไร ไม่มีใครประมาณการได้ และไม่มีใครเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเจตนารมณ์ที่แท้จริงที่ผู้นำสหรัฐฯ และทีมงานของเขาต้องการให้เกิดขึ้น มีอะไรเกินกว่าที่ประชาคมโลกได้แลเห็นเพียงใด การกล่าวถ้อยคำที่รุนแรงต่อผู้นำรัสเซีย ตลอดจนท่าทีการพยายามทำสงครามทางเศรษฐกิจและการค้าต่อรัสเซีย โดยไบเดนได้เดินสายไปขอความร่วมมือและข่มขู่ให้ร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัสเซียอย่างออกนอกหน้า ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ตลอดจนประเทศตะวันออกกลางในการเพิ่มการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงออกสู่ตลาดโลกอันเป็นการลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงจากรัสเซีย แต่การเดินสายของผู้นำสหรัฐฯ กลับไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ต้องการจากประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่ไม่อยากเข้าไปร่วมความขัดแย้งครั้งนี้ แม้กระทั่งคำกล่าวอันรุนแรงของผู้นำสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เปรียบเทียบการต่อต้านการรุกรานของรัสเซียของยูเครนครั้งนี้ว่า เหมือนกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนจากโซเวียต ทำให้ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ช่วยแก้ต่าง โดยชี้แจงว่า ประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้พูดถึงอำนาจของประธานาธิบดีปูตินในรัสเซีย และไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พร้อมระบุว่า ประเด็นที่ผู้นำสหรัฐฯ หมายถึงคือ ปูติน ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อำนาจเหนือเพื่อนบ้านหรือภูมิภาคเท่านั้น เมื่อประมวลปรากฏการณ์ทั้งหลายผ่านการกล่าวถ้อยคำและท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งให้ขยายตัวและรุนแรงขึ้นเสมือนว่าไม่อยากให้ยุติในเร็ววัน ในสถานการณ์อันซับซ้อนเปราะบางนี้ ประชาคมโลกจึงควรตั้งสติพิจารณาให้รอบคอบที่สุดในการนำพาชาติบ้านเมืองไปทางไหน เพราะเป็นไปได้สูงว่า มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มีอะไรซ่อนเร้นในเจตจำนงของความขัดแย้งครั้งนี้ที่มีอะไรเกินกว่าที่ประชาคมโลกได้แลเห็น