เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จังหวัดสุรินทร์ เป็นจังหวัดแรกที่นำร่องแผนปรับโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุข โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้า ประกาศให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคม 2565
ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค.มีมติให้ยกเลิกการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR วันที่ 5 และให้ตรวจแบบ ATK และให้รายงานกลับมา สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร พร้อมให้ลดวงเงินประกันสุขภาพด้วย
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ ถึงแนวทางการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า ต้องจับตาประเมินสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะเป็นจุดบอกว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ ในการเข้าไปสู่โรคประจำท้องถิ่น ถ้าหากช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงเสี่ยงสามารถผ่านไปได้ดี คนไทยเข้าใจโรค วิถีชีวิตในช่วงสงกรานต์นี้ที่จะให้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัว เดินทางได้ โดยระวังในจุดที่พึงระวัง
"ถ้าผ่านสงกรานต์ไปด้วยดี คนฉีดวัคซีนมากขึ้น สิ่งที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ คนที่หายจากการติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคน เท่ากับจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากเกิดขึ้น ทั้งจากวัคซีนและหายจากโรคมากมายในสังคม เชื่อว่าตอนนั้นจะเห็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้โควิด-19 กลายเป็นประจำท้องถิ่น" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่าขณะนี้เป็นโอมิครอน โดยข้อมูลทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2564 พบว่า คนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 โดสแล้วติดโอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยลงมาก ซึ่งยาเหล่านี้เป็นตัวเลือกในกลุ่ม 608 ที่เสี่ยงต่ออาการมาก
ขณะนี้ แม้มีการเคลื่อนสู่โรค ประจำท้องถิ่น แต่ยังมีคำถามถึงลอง โควิด-19 หรือ Post Covid-19 ซึ่งมี การสัมมนาใหญ่ที่สหรัฐฯ และอังกฤษ พบว่า โดยเฉลี่ยอาการลองโควิดไม่ว่า จากสายพันธุ์ใดเกิดขึ้นประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการ ตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงมากขึ้น โดยข้อสรุป คือ อาการลองโควิดเป็นอาการจริง แต่เดิมที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดขึ้นจากความกังวล
อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ที่รัฐบาลเดินหน้ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข เราๆ ท่านๆ จึงต้องเพิ่มระดับความเข้มข้นในการดูแลป้องกันตนเอง ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ