สังคมได้อะไรจากตบสะท้านโลกของ วิล สมิธ ดาราดังฮอลลีวูดบนเวทีประกาศรางวัลออสการ์ เมื่อคริส ร็อก พิธีกร แซว เจดา พินเก็ตต์ สมิธ ภรรยาของเขาที่ป่วยด้วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) จนต้องโกนผม ว่าเหมาะเล่นภาพยนตร์เรื่อง G.I. Jane ที่นางเอกของเรื่องต้องโกนหัวเพราะเป็นทหาร สังคมได้เรียนรู้เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของคนที่ถูกต่อว่า และอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรงตามมา สอง การหยอกล้อกับการบูลลี่ มีเส้นแบ่งที่บางมาก นอกจากระดับความสนิทสนมแล้ว กาลเทศะก็มีความสำคัญ บางครั้งการพูดประโยคเดียวกันต่อหน้าธารกำนัน สาม ไม่มีเหตุผลใดเพียงพอสำหรับความรุนแรง เพราะแม้สังคมออนไลน์จะเข้าใจและเห็นใจในเหตุผลของวิล สมิธ แต่เขาต้องยอมรับบทลงโทษที่จะเกิดขึ้น ในถ้อยแถลงผ่านอินสตาแกรมของ วิล สมิธ ตอนหนึ่งระบุว่า ความรุนแรงทุกรูปแบบเป็นพิษและเป็นภัย สิ่งที่เขาทำเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้และไม่อาจจะแก้ตัวได้ เขารู้สึกผิด อับอายและสิ่งที่ทำไปไม่ใช่การกระทำของคนในแบบที่เขาอยากจะเป็น หากพูดกันภาษาชาวบ้านก็คือ อารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งอารมณ์ชั่ววูบนี้ หากย้อนกลับมาที่กฎหมายบ้านเรา ขณะนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ระบุว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฝั่งที่บูลลี่ชาวบ้านเขาเองก็พึงระลึกไว้เสมอว่า อาจเป็นการกระทำเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นตอ่บุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉะนั้น ไม่ว่าคนที่คิดจะพูดจาหยอกล้อ หรือบูลลี่ใคร รวมทั้งการรับมือกับการบูลลี่ ทั้งที่เกิดขึ้นกับตนเอง หรือคนที่เรารัก จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องมีสติกำกับ สติมาปัญญาเกิด