จากกรณีที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเอสแอนด์พี (S&P Global Rating) มองว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะยืดเยื้อกว่าที่คิด แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ใช้มาตรการต่างๆเพื่อลดความเสี่ยงก็ตาม อย่างไรก็ดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน มีการรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อ 22 มีนาคมที่ผ่านมา 1. การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่ง กยศ.ได้ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปแล้ว 6.15 ล้านราย วงเงินรวม 6.75 แสนล้านบาท พร้อมออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินช่วยผู้กู้ยืม เช่น ลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 กรณีปิดบัญชีคราวเดียว 58,286 ราย และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 กรณีชำระหนี้ทันงวด 325,231 ราย นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมได้บูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้สิน กยศ.อย่างเป็นระบบทั้งก่อนศาลมีคำพิพากษาและหลังจากศาลมีคำพิพากษาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ 2. กำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ซึ่งเน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFls) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้จัดโครงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามความสมัครใจ ซึ่งมีกองทุนเข้าร่วม 413 กองทุน สมาชิกรวม 32,055 ราย รวมวงเงินกู้ที่พักชำระหนี้จำนวน 901 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ ดำเนินโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ แชทบอท และไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรับธุรกิจและมาตรการต่าง ๆ ให้กับลูกหนี้เป็นรายกรณีด้วย 3. การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กระทรวงยุติธรรมได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ ประมาณ 5,000 คัน ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลสินเชื่อและธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ 4. การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการ เช่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวัสดิการตัดเงินเดือนให้เป็นสวัสดิการที่แท้จริง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 และขยายผลการแก้ไขหนี้ครูผ่านสหกรณ์ต้นแบบ สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการตำรวจได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วหลายพันราย กรณี การแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบนั้น ได้มีการดำเนินการ อาทิ จับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - ธันวาคม 2564 จำนวน 10,375 คน กระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป เช่น สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 1,029 ราย ใน 75 จังหวัด และอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยแล้ว 1.24 ล้านบัญชี วงเงินรวม 1.69 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรม ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบปีงบประมาณ 2564 จำนวน 187 เรื่อง ทุนทรัพย์ 118.50 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 (ช่วงตุลาคม -ธันวาคม 2564) จำนวน 32 เรื่อง ทุนทรัพย์ 7.06 ล้านบาท และได้แก้ไขปัญหาการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชน โดยดำเนินคดีฐานความผิดแชร์ลูกโซ่ เป็นเรื่องสืบสวนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 เรื่อง และเป็นคดีพิเศษอยู่ระหว่างดำเนินการ 17 เรื่อง อย่างไรก็ดี มาตรการต่างๆที่รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน และมาตรการเร่งด่วน 10 มาตรการที่ออกมาช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่กดดัน ทั้งวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้า เป็นกับดักที่ต้องประคับประคองให้ฝ่าไปให้ได้ เราต้องรอด