เมื่อเงินในกระเป๋ามีเท่าเดิม แต่จับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคได้น้อยลง ภาวะกระเป๋าแบนจึงเกิดขึ้นกับประชาชน ซ้ำเติมวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ประเทศไทยเผชิญมา 2 ปี และยังถูกสถานการณ์สงครามในอีกซีกโลกเข้ามาซ้ำเติม
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าจากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ตึงเครียดและส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตของระดับราคาสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มาก ได้แก่
1) กลุ่มน้ำมันพืช: โดยคาดว่าทิศทางราคาน้ำมันพืชปี 2565 มีแนวโน้มจะพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ทั้งน้ำปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง สวนทางกับปริมาณการผลิตที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก
2) กลุ่มเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ผลิตภัณฑ์นมและไข่): โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกร ที่คาดว่าปี 2565 ราคาก็น่าจะยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 จากจำนวนผลผลิตสุกรที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ (อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง) ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะปรับราคาสูงขึ้น ตลอดจนต้นทุนในการบริหารจัดการภายในโรงงานที่ปรับสูงขึ้น อาจส่งผลให้ธุรกิจปลายน้ำที่นำวัตถุดิบไปใช้อย่าง ธุรกิจร้านอาหาร โรงงานอาหารแปรรูป/สำเร็จรูป เผชิญความท้าทายด้านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3) กลุ่มเครื่องดื่ม (ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์) แม้ว่าภาครัฐยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบต้นน้ำ อาทิ มอลต์ (สกัดจากธัญพืช อาทิ บาร์เลย์ ข้าวสาลี เป็นต้น) ราคาบรรจุภัณฑ์ (กระป๋อง) รวมถึงต้นทุนด้านขนส่ง อาจส่งผลให้สินค้าในบางรายการมีโอกาสขยับราคาขึ้นได้ อาทิ เบียร์ น้ำอัดลม เป็นต้น
ขณะที่กรุงเทพโพล โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นประชาชน เรื่อง “น้ำมันแพงกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับ” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.1 ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง โดยระบุว่า ทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น การเดินทางเพิ่มขึ้น เงินเหลือเก็บลดลง และส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.7 มีความกังวลหากราคาน้ำมันยังแพงอยู่คือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดอาจแพงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ไทยเผชิญปัญหาโควิด ก็ส่งผลให้คนจนเพิ่มขึ้น มีข้อมูลจากดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวระหว่างงานสัมมนาสาธารณะ"ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด โอกาสหรือความเสี่ยง" ที่ สถาบันอิศรา ร่วมกับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 10 จัดขึ้นระบุตอนหนึ่งว่า โควิดทำให้คนจนเพิ่มขึ้น จากก่อนโควิดที่มีคนจนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 ล้านคน แต่เมื่อเกิดโควิดเพิ่มเป็น 4.8 ล้านคน แต่ถ้าไม่มาตรเยียวยาต่างๆจากรัฐออกมา จะมีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน
เมื่อโควิดยังอยู่กับเรา และสงครามที่ตึงเครียดรุมเร้า ยังมองไม่เห็นปลายทางในการคลี่คลายก็น่าห่วงจะทำให้คนจน และโดยเฉพาะคนจนเฉียบพลันจากกิจการที่แบกภาระไม่ไหวอีกหรือไม่