การขยับเข้าพรรคการเมือง หรือการที่สมาชิกบางคน บางกลุ่ม พากัน “ไหลออก” จากพรรคการเมือง พรรคใดพรรคหนึ่งในห้วงเวลานี้ กำลังกลายเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงบริบทการต่อสู้ทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในห้วงจังหวะที่ทุกพรรครอจัดทัพเพื่อรองรับการเลือกตั้ง และจังหวะที่ “รัฐบาล” กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา “ความนิยม” ที่ลดลง อย่างเห็นได้ชัด จึงเท่ากับว่า แม้พรรคร่วมรัฐบาล จะอยู่ในจุดที่ได้เปรียบ อยู่ในอำนาจรัฐ แต่ย่อมไม่ใช่เครื่องการันตีได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ต้อง “ทำงานหนัก”
ขณะที่พรรคการเมืองทั้งในปีกฝ่ายค้านเองก็เฝ้ารอจังหวะ ที่จะพลิกเกม “ทำแต้ม” หาจุดอ่อน ข้อบกพร่องของรัฐบาล ก่อนที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบในสภาฯ ไปจนถึงการพัฒนาขึ้นมา “นโยบาย” นำเสนอพี่น้องประชาชน และสำหรับพรรคการเมืองใหม่ที่พากันแจ้งจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่พากันเปิดตัว อย่างคึกคักมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “เหล้าเก่า” ที่นำมาใส่ใน “ขวดใหม่” แทบทั้งสิ้น ! ดังนั้นจึงหมายความว่าในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไม่มีพรรคการเมือง หรือนักการเมืองทื่ถือว่า “ใหม่ถอดด้าม” หรือไม่เคยลงสนามก่อนมา ในทางตรงข้ามกลับพบว่า มีหลายพรรคการเมืองที่เกิดปัญหาและควาขัดแย้งกันเองภายในพรรค จนทำให้ต้อง “แยกตัว” ออกมาตั้งพรรคใหม่ และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า พรรคการเมืองใหม่ ที่แตกหน่อออกมาตั้งพรรคใหม่นั้น จะไปบรรจบกันในเส้นทางการเมือง เส้นเดียวกัน ในฐานะ “พรรครัฐบาล” ด้วยกันหรือไม่ ? ท่าทีและความเคลื่อนไหวจาก “พรรคไทยสร้างไทย” ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นแม่ทัพใหญ่ นั่งอยู่ในฐานะประธานพรรคไทยสร้างไทย กำลังถูกจับตา อย่างต่อเนื่อง !
ทั้งในแง่ที่ว่าพรรคไทยสร้างไทย ล้วนแล้วแต่มี “แกนนำ” ที่เคยเป็น “ลูกน้อง” ทำงานกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาก่อนแทบทั้งสิ้น แต่เมื่อ กลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์เกิดความขัดแย้งกับ “ขั้วอำนาจ” ภายในพรรค จึงต้องเป็นฝ่ายเดินออกจากพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมา และยังน่าสนใจว่า พรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้แค่เสีย “เก่ง” การุณ โหสกุล ส.ส.กทม.ไปให้กับ พรรคไทยสร้างไทยเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มว่า “แกนนำ” ที่มีความใกล้ชิด กับคุณหญิงสุดารัตน์ ทั้งในสายอีสาน และกทม. อีกหลายคน เตรียม “โบกมือลา” ออกจากพรรคเพื่อไทย ในเร็วๆนี้ เพื่อมาร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย จะด้วยเพราะ สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยเองที่ลดดีกรี “ความขลัง” ลงไปหลายเท่าตัว ดังนั้น จึงกลายเป็น เงื่อนไขที่ทำให้ “อดีตส.ส.” ที่มีฐานเสียงแข็งแกร่งเป็นของตัวเอง จึงไม่ต้องอาศัยโลโก้พรรคเพื่อไทยอีกต่อไป และเหนืออื่นใด อย่าลืมว่า การแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ โอกาสที่จะเปิดรับ “การดีล” กับฝ่ายใดก็ตามที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ยิ่งราบรื่นมากกว่าจะยึดติดกับ “พรรคเพื่อไทย” ที่มี “ทักษิณ” เป็นโล้โก้หลัก !