แม้สถานการณ์การเมืองจะยังอึมครึมและปั่นป่วนวุ่นวาย กับอีเวนต์แสดงพลังเพื่อต่อรอง มีการกวาดต้อนส.ส.เข้ากลุ่ม เข้าพรรคกันอย่างคึกคัก เป็นสัญญาณว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะมีการซื้อเสียงกันเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ปัญหาเรื่องการซื้อเสียง ถูกพูดถึงในแทบจะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง โดยในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ตัวเลขในตลาดการเมืองที่พูดถึงกัน พุ่งไปถึงหัวละ 2 พันบาท แต่ถ้าเป็นคนที่ไปทำงานต่างถิ่นต้องกลับมาลงคะแนนเสียงที่บ้านก็มีค่าน้ำมันเพิ่มให้อีก 1 พัน เป็น 3 พันบาททีเดียว ในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้น ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น หลายครั้งปัจจัยแพ้ชนะก็มาจากกระแสของการเมืองใหญ่ด้วย ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต.ที่ผ่านมา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา อ้างว่ามีการทุจริตซื้อเสียงหัวละ 200-2,000 บาท ขณะที่บางจังหวัดรอบปริมณฑลมีการซื้อเสียงกันหัวละหมื่น อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าหากต้องลงทุนซื้อเสียงหัวละหมื่นจริงอย่างที่นายวันชัยระบุ นั่นย่อมหมายถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจะต้องสูงมากเป็นหลักร้อยหลักพันล้านบาทหรือไม่ หรือเรียกง่ายๆว่าสามารถเข้ามาถอนทุนคืนได้ถึงขนาดนั้นจึงจะคุ้มทุนที่ลงไปหรือไม่ กระนั้น เมื่อหันมาดูผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ซื้อเสียง ถูกกฎหมาย?” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า “ประเทศไทยมีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ ร้อยละ 76.75 ในขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.92 ไม่เชื่อว่าปัญหาการซื้อเสียงเลือกตั้งจะสามารถแก้ไขได้ กระนั้น เราคาดหวังว่า การเมืองไทยจะมีการพัฒนา รับเงินแล้วไม่กา แต่เลือกคนดี ที่ดีโดยเนื้อแท้ และทำงานเก่ง ไม่ใช่ดีแต่หน้าสื่อ ทำงานไม่เป็น