แม้ปัจจุบันสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์กลายเป็นกระแส การสื่อสารถึงกลวิธีรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างๆนานาออกมา แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ยังตกเป็นเหยื่อของของแก๊งมิจฉาชีพที่หลอกลวงผ่านออนไลน์รายวัน ตัวผู้เขียนเองก็ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ที่เคยได้รับโทรศัพท์หมายเลขแปลกๆ ของแก๊งเหล่านี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 มีหมายเลขโทรศัพท์โทรมาแล้วเมื่อรับสาย ปลายสายไม่มีเสียงตอบรับใดๆ แต่หลังจากนั้นมีข้อความส่งมาด้วยประโยคที่อ่านแล้วไม่เข้าใจความหมาย เหมือนเป็นความพยายามแปลมาจากภาษาต่างชาติเป็นภาษาไทย เป็นอย่างนี้ 3 -4 ครั้งจึงเริ่มสังเกตว่าเป็นหมายเลขเดียวกัน จึงได้บล็อกหมายเลขดังกล่าวและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนก็มีหมายเลขโทรศัพท์ของบรรดาแก๊งคอลเซ็นเตอร์แวะเวียนเข้ามาตลอด ทั้งที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทโลจิสติกแจ้งพัสดุตกค้าง เว็บไซต์ชอปปิ้งสินค้าให้รางวัล สลับสับเปลี่ยนกันมา ทั้งที่เป็นระบบเสียงอัตโนมัติให้ กด 9 และเป็นเสียงของบุคคลที่อ้างตัวเป็นพนักงานต่างๆ แม้จะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อหรือหลงกลโอนเงินให้กับบรรดาแก๊งเหล่านี้ แต่ก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ เมื่อเร็วๆนี้ ญาติพี่น้องที่เป็นผู้สูงอายุก็ถูกแก๊งมิจฉาชีพรบกวน แม้ท่านจะเคยทราบข่าว แต่ก็อดที่ไม่สบายใจได้ เมื่อแก๊งมิจฉาชีพใช้ระบบเสียงอัตโนมัติอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โชคยังดีที่ได้ติดต่อมาสอบถามกับผู้เขียนก่อน จึงไม่ได้หลงเชื่อดำเนินการตามคำขอของแก๊งมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางพัมพูชาได้ส่งตัวผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ข้อมูลของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ยังมีคนไทยที่ลักลอบทำงานในประเทศกัมพูชาอย่างผิดกฎหมายมีประมาณเกือบ 3,000 คน ร้อยละ 90 อยู่อย่างผิดกฎหมาย และที่น่าตกใจคือ ข่าวที่ก่อนหน้านี้ได้มีการช่วยเหลือสาวคนไทยรายหนึ่ง ถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศกัมพูชากับแก๊งชาวจีน ถูกบังคับให้ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อหลอกลวงคนไทย เมื่อไม่ยอมทำ จึงถูกทำร้ายร่างกาย กักขังให้อดอาหาร ไฟฟ้าช็อตกระทั่งถูกดูดเลือดเพื่อเตรียมผ่าตัดขายอวัยวะ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ ความจริงที่ปรากฎออกมาภายหลังว่า แท้ที่จริงแล้วเธอสร้างเรื่องขึ้นมา เพราะอยากให้ตำรวจมารับตน ซึ่งแท้จริงแล้ว ระหว่างที่สร้างเรื่องนั้น ยังคงทำงานหลอกลวงคนไทยอยู่ที่เมืองปอยเปต ก่อนจะเดินทางมาที่ด่านอรัญประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดฐาน รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท กรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ของหลายฝ่าย และการยกระดับการหลอกลวง ในขณะที่อาชญากรรมออนไลน์ ยังคงมีความรุนแรงขึ้น ถึงเวลาที่ต้องรณรงค์ให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญไม่เพียงแต่การป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ในระดับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ต้องให้ความรู้และสอดส่องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคนไทยถูกหลอกลวงไปทำงานผิดกฎหมาย ในต่างประเทศ โดยควรติดต่อผ่านหน่วยงานของรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมาย