ทวี สุรฤทธิกุล
“พ่อโคนันทวิศาลเอย เจ้าจงลากเกวียน 600 เล่มนี้ให้พ่อด้วยเถิด”
ในวิชาการบริหารงานบุคคล มีหลักที่ว่าด้วยการพิจารณาเลือกใช้คนอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือต้องรู้ว่าคนแต่ละคนนั้นเป็น “สัตว์” ประเภทใด โดยแบ่งเป็นสัตว์เลี้ยง 4 ชนิดด้วยกัน คือ หมู หมา วัว และควาย เทียบได้กับคนที่ “กิน อยู่ และทำงาน” 4 แบบ แบบที่ 1 กินมูมมาม อยู่แบบเลอะเทอะ และไม่ชอบทำงาน(ไม่มีความรับผิดชอบ) คือหมู แบบที่ 2 กินแล้วแต่ที่คน(นายจ้าง)จะให้กิน อยู่แบบอดทนมัธยัสถ์ และทำงานด้วยความชื่อสัตว์ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบดีมาก คือหมา แบบที่ 3 เลือกกินเฉพาะหญ้า อยู่แบบพิถีพิถัน และทำงานตามหน้าที่ด้วยดี มีความรับผิดชอบพอประมาณ คือวัว และแบบที่ 4 กินพืชได้หลายชนิด อยู่ได้ในที่ทุรกันดารเพียงแต่ต้องมีน้ำให้เล่น และทำงานหนักได้ดี มีความรับผิดชอบดี ซึ่งก็คือควาย
นักการเมืองไทยเป็นส่วนผสมของสัตว์หลายชนิด บางคนบอกว่าไม่น่าจะเป็นแบบสัตว์เลี้ยงทั้ง 4 ชนิดข้างต้น แม้ว่าจะกินมูมมามเหมือนหมู แต่ก็ไม่ค่อยมีความซื่อสัตย์เหมือนสุนัข เป็นข้าหลายเจ้าบ่าวหลายนาย เป็นสัตว์รักอิสระเสรีเหมือนแบบแมวนั้นมากกว่า และยิ่งมีนิสัยแย่ ๆ ไม่รับผิดชอบ หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ก็ยิ่งเอาไปเปรียบกับวัวและควายนั้นไม่ได้ สมัยก่อนเราเรียกพวกนักการเมืองว่าเป็น “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” เพราะมีลักษณะที่ป่าเถื่อนน่ากลัวเหมือนสัตว์ป่าเหล่านั้น ตอนนี้มีคนเปรียบนักการเมืองไทยว่าเป็นลิง เพราะชอบปีนป่ายวุ่นวาย อยู่ไม่สุข ชอบเล่นแสดงท่าทาง แลบลิ้น ปลิ้นหู กลอกตา (แบบว่าหิวแสง) และชอบกินกล้วย ซึ่งในสมัยก่อนเราเรียกนายกรัฐมนตรีบางท่านว่า “ฤษีเลี้ยงลิง” แต่ลิงสมัยนั้นยังไม่ร้องกินกล้วย เพียงแต่ชอบเล่นหาเหามาใส่หัวผู้ใหญ่ ซึ่งนักการเมืองสมัยนี้ก็ชอบทำเช่นกัน
ที่เกริ่นนำด้วยถ้อยคำในนิทานชาดกเรื่องโคนันทวิศาลและรวมกับอุปนิสัยของสัตว์นานาชนิดมาข้างต้นนี้ ก็เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าคนที่จะปกครองประเทศให้อยู่รอดไปได้นั้น จะต้องพบกับนักการเมืองประเภทใดบ้าง ที่สำคัญคือการที่จะ “ดูแล” สัตว์ เอ๊ย นักการเมืองเหล่านั้นให้อยู่ในการควบคุมของเขาให้ได้ แต่เนื่องด้วยนักการเมืองมีส่วนผสมของสัตว์หลายชนิด ก็ต้องเลือกวิธีที่จะดูแล ไม่เพียงแต่จะต้องรู้ว่านักการเมืองคนนั้น ๆ เป็นสัตว์ประเภทใด แต่ต้องรู้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาด้วยว่า นักการเมืองคนนั้นกำลังปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นสัตว์ชนิดใด เพราะสิ่งแวดล้อมและเวลาที่เปลี่ยนไปมีผลต่อนักการเมืองเป็นอย่างมาก คอลัมนิสต์ฝรั่งเคยเรียกลักษณะที่นักการเมืองเปลี่ยนสภาพไปตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปว่า “Dr. Jekyll and Mr. Hyde” คือกลางวันเป็นหมอสุภาพเรียบร้อย เป็นคนดีมาก ๆ พอตกกลางคืนกลับกลายเป็นอาชญากรที่ชั่วร้ายมาก ๆ ถ้าเป็นเรื่องของไทยก็น่าจะเป็นแบบเรื่องกระสือ คือกลางวันเป็นผู้หญิงสวย แต่พอตกกลางคืนก็ถอดเอาแต่หัวกับไส้ ล่องลอยไปหากินของเหม็นของคาวต่าง ๆ
เมื่อตอนที่คณะ คสช.คิดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ใน พ.ศ. 2661 ผู้เขียนเคยติติงเอาไว้ว่า ขออย่าให้เป็นแบบพรรคสามัคคีธรรมในสมัย รสช. เมื่อ ปี 2636 คือคิดแต่จะรวบรวมเอานักการเมืองทุกประเภทเอาเข้ามาในพรรคให้มาก ๆ ไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นแบบนั้น คสช.ก็จะได้ “พรรคใหญ่แต่ไร้ค่า” คือมีแต่จำนวนโดยไม่มีคุณภาพ ซึ่งพอตั้งรัฐบาลได้ไม่นาน ก็เกิดความระหองระแหงขึ้นภายในพรรค ด้วยเรื่อง “อาหารการกินไม่พอปาก” แกนนำพรรคกลุ่ม 4 กุมารที่ภาพดีและทีเหลว คือ “หล่อแต่ไม่รวย(ถึงรวยก็ไม่จ่าย)” ก็ถูกเขี่ยออกไป ทีนี้พี่ใหญ่ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าพรรคก็หลงคารมเจ้าของสวนกล้วย ว่าจะสามารถเลี้ยงดูบรรดาลิง ๆ ทั้งหลายนั้นได้ เพียงแต่ไปบอกลุงหัวหน้ารัฐบาลหน่อยว่า ขอเก้าอี้รัฐมนตรีตัวใหญ่ ๆ ให้หน่อย ซึ่งพอเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เป็นไปอย่างที่ขอ เจ้าของสวนกล้วยจึงอาละวาด ย้ายไปทำสวนกล้วยที่อื่น (ถ้าจะให้เหมือนในหนังโฆษณาสมัยก่อน ก็ต้องมีภาพลิงตัวหนึ่งที่ทุบหลังคาไม่แตก จึงแบกกล้วยเดินออกไป ก่อนที่จะหันหน้ากลับมาพูดว่า “จำไว้นะโอฬาร”) แต่จนถึงบัดนี้ก็ดูจะหมดหวังที่จะกลับมา “เด่นดัง” เหมือนครั้งก่อนนี้
ความจริงคุณลุงหัวหน้ารัฐบาลชุดนี้เป็นคนมีบุญมาก ๆ เพราะอะไรที่เป็นภัยคุกคามก็ดูค่อย ๆ อยู่ห่างตัวออกไป อย่างกรณีของเจ้าของสวนกล้วย เมื่อออกไปจากรัฐบาล และไปตั้งสวนกล้วยขึ้นนอกรัฐบาล พร้อมกับประกาศว่าจะฟันต้นกล้วยของลุงให้รัฐบาลล้มให้ได้ แต่ดูไปแล้วก็อดนึกถึงวาทะของ “หลงจู๊” คนดังเมืองสุพรรณผู้ล่วงลับไม่ได้ ที่เคยโอดครวญว่า พอออกจากรัฐบาลแล้วก็ “อดอยากปากแห้ง” ไม่มีอะไรยาไส้ สภาพของเจ้าของสวนกล้วยคนนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับประโยคนั้น เพราะพอหมดอำนาจแล้วก็คงยิ่งแย่ หมดหนทางที่จะทำมาหากินอะไรได้ง่าย ๆ อีก ทั้งยังถูกตรวจสอบทรัพย์สินหยุมหยิม เป็นชนักติดหลังให้รำคาญ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ด้วย ว่าบางทีอาจจะหมดวาสนาจนหมดอนาคตทางการเมือง
กลับมาพูดถึงนักการเมืองยุคนี้ที่บางท่านเรียกว่า “ยุคมิลเลนเนียม” คือมนุษย์ยุคสหัสวรรษ หลังปี 2000 ก็เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้พัฒนาไปจากยุคก่อนนี้มากนัก คือนิสัยที่ไม่ค่อยดีก็ยังคงมีอยู่ดังเดิม โดยเฉพาะการชอบเกาะขาหากินกับทหารและผู้มีอำนาจ เพียงแต่นักการเมืองยุคนี้จะมีความใกล้ชิดกับผู้เลือกตั้งมากยิ่งขึ้น ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโยงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ทหารหรือผู้มีอำนาจนั้นยังปรับตัวในเรื่องนี้ได้ช้า หรือยัง “โลว์เทค” อยู่มาก ทำให้ไม่รู้ว่านักการเมืองที่ผู้มีอำนาจต้องดูแลอยู่นี้เขาพูดคุยอะไรกับประชาชน เช่นเดียวกันกับภาษาที่จะพูดกับนักการเมือง ก็ต้องหลีกเลี่ยงภาษาที่ใช้กันในกองทัพ ได้แก่ การพูดกระโชกโฮกฮาก ทำตาถมึงตะคอกใส่ และพูดแบบไม่มองหัวมองหน้าผู้ฟัง เพราะนักการเมืองสมัยนี้ถึงจะมีคุณลักษณะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ชอบคำพูดเพราะ ๆ นิ่มนวล และให้เกียรติกันพอสมควรนั้นอยู่
คุณลุงหัวหน้ารัฐบาลก็ชอบเผลอที่จะใช้คำพูดและท่าทางของทหารอยู่บ่อย ๆ มีหลายช่วงที่พยายามปรับตัวพูดนิ่มนวลขึ้นบ้าง แต่ก็พูดดีได้ไม่นาน กลับมา “เม้งแตก” อยู่อีกบ่อย ๆ เช่นกัน แต่นั่นแหละบุคลิกเช่นนี้บางทีก็มีเหตุมาจากตัวนักการเมืองที่ต้องดูแลอยู่นั้นด้วย เพราะบางทีแม้จะพูดเพราะ ๆ ด้วยแล้วก็ยังไม่เป็นที่พอใจและไม่ได้ให้ความร่วมมือ ทั้งยังจะแว้งมาทำร้ายรัฐบาลของตัวเองอีกด้วย
บางทีโคนันทวิศาลยุคนี้อาจจะไม่ต้องการแค่คำพูดเพราะ ๆ แต่อาจจะต้องมีอะไรให้กินอย่างเพียงพออีกด้วย