สงครามเย็นการเมืองปะทุ ผ่านอีเวนต์แสดงพลัง หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงสานสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลผ่านบทบาทการทำงานร่วมกันของคณะรัฐมนตรี เพื่อตอกย้ำสัญญาณที่ส่งออกมาก่อนหน้านี้ว่าเขาจะไมยุบสภาฯ เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะเกิดขึ้นในสมัยประชุมหน้า โดยเฉพาะตัวเลขของผู้สนับสนุน 260 เสียงที่เป็นข่าวออกมาก่อนหน้านี้
ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งการพบปะระหว่างส.ส.ภาคอีสาน กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างการเดินทางมาตรวจสุขภาพที่ประเทศสิงคโปร์ และการเชิญพรรคการเมืองขนาดเล็กร่วมรับประทานอาหารของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย
ด้วยสถานการณ์ช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง นับถอนหลังเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ที่ปฏิทินการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น มีหลายเรื่องที่มาชุมนุมกันอย่างประจวบเหมาะพอดี
ไม่ว่าจะเป็นกำหนดเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวัน 22 พฤษภาคม 2565 ที่ในสมัยประชุมนี้เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ โดยก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้ออกมาตีปลาหน้าไซว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้กำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังต้องรอดูความพร้อมของฝ่ายรัฐบาล แต่หากฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วก็จะเกิดเดดล็อก ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถยุบสภาฯได้ ซึ่งหากเสียงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงพอ ก็จะสามารถบริหารประเทศต่อไปได้ แต่หากเป็นในทางตรงกันข้ามก็จะต้องลาออกไป
และในเดือนพฤษภาคมนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร- สมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือ ส.ก. นายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา ที่กกต.ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 22 พฤษภาคม
โดยศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น จะเป็นการวัดพลังของพรรคการเมืองทั้งที่เปิดตัวว่าส่งผู้สมัครลงแข่งขันในสนามนี้ และแอบสนับสนุนผู้สมัครอิสระบางรายแล้ว ในขณะที่การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา จะเป็นการวัดกำลังภายในระหว่างกลุ่มของนายสนธยา คุณปลื้ม กับนายสุชาติ แซ่เฮ้ง ภายในพรรคพลังประชารัฐ
และสุดท้ายคือวันที่ 22 พฤษภาคม2565 เป็นวันครบรอบ 8 ปี รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.ซึ่งต้องจับตาว่าท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง และแกนนำม็อบฮาร์ดคอร์ต่างๆ ที่ได้รับปการปล่อยตัวออกมาแล้ว จะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรในวันสัญลักษณ์นี้หรือไม่
ไม่นับวันครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ห้วงระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม ที่อาจเป็นเงื่อนไข หรือเร้าบรรยากาศการเมืองที่อาจมีการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งต้องติดตามสถานกาณ์ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือเป็นจะก้าวข้ามผ่านเดือนพฤษภาคมไปอย่างเป็นแค่เดือนๆหนึ่ง