วิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่นำไปสู่มาตรการตอบโต้ทางด้านเศรษฐกิจ กำลังกลายเป็นปัญหาลุกลามไปยังเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะไทยเราที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู กลับต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน จากวิกฤติโอไมครอน ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อ ซึ่งหากวิกฤติสงครามยืดเยื้อหรือขยายวงออกไป ก็อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม รายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงความเสี่ยงของผลกระทบของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงอาจกระทบด้านส่งออกสินค้า รายได้จากนักท่องเที่ยว ต้นทุนวัตถุดิบที่ต้องจัดหาทดแทน และรายได้จากการส่งแรงงานจาก 2 ประเทศลดลง ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมมี 5 ประการที่ต้องจับตาก็คือ 1.ค่าเงินบาทผันผวน จากตลาดเงินโลกผันผวน จากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ ต่อรัสเซีย รวมถึงความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น 2.อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ผู้ขายปรับเพิ่ม ราคาขายเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น 3.มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง เศรษฐกิจโลก (โดยเฉพาะยุโรป) ที่มีโอกาสชะลอตัว และปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตชิปจะกดดัน ให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าปี 2565 ลดต่ำลงจากเดิม 4. การบริโภคและการลงทุนของ ภาคเอกชนชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความมั่งคั่งที่ลดลง จากความผันผวนในตลาดทุนของไทยจะกดดันให้ภาคเอกชนลดการใช้จ่ายลง 5.รายได้จากนักท่องเที่ยวที่มา จากพื้นที่อื่นๆ ชะลอตัวลง เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป ที่มีโอกาส ชะลอตัวจะกดดันให้ตัวเลขนักท่องเที่ยว ต่างประเทศปี 2565 ลดต่ำลงจากเดิม ทั้งนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินมูลค่าความเสียหายจากกรณีพิพาทฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ในกรณีแย่ที่สุด ความขัดแย้งยืดเยื้อทั้งปี 2565 จะทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเสียหาย 78,800 ล้านบาท การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบ/พลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เสียหาย 60,500 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเสียหาย 54,800 ล้านบาท รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเสียหาย 50,400 ล้านบาท รายได้จากการส่งแรงงานไปท้างานต่างประเทศเสียหาย 250 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมด 244,750 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 1.5% ส่งผลจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% และเงินเฟ้อสูงถึง 4.5-5.5% กรณีแย่ระดับกลาง หากควมขัดแย้งจบลงใน 6 เดือน ความเสียหายจะอยู่ที่ 146,850 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.9% ส่งผลจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5-4.5 % และกรณีแย่น้อยที่สุดคือสามารถจบลงได้เร็วภายใน3 เดือน เศรษฐกิจไทยจะเสียหาย 73,425 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.5% ส่งผลจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.7% และเงินเฟ้อสูง 3.0-3.5% อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบดังกล่าวจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมามากเกินกว่าจะเสี่ยงได้อีก การรับมือจึงต้องเตรียมเอาไว้ทั้งกรณีที่เลวร้ายที่สุด และระยะปานกลาง เพราะแม้อาจจะโชคดีวิกฤติจบเร็ว เราก็ยังบาดเจ็บ