เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เราอาจตื่นเต้นกับภาวะ “โลกาภิวัตน์” และเตรียมตัวจะเป็นโลกาภิวัตน์บ้าง ก้าวเดินมาถึงปัจจุบัน ในวิกฤติที่ผ่านมาก็ยังมีด้านดี ที่ชะลอการเป็นโลกาภิวัตน์ของสังคมไทย บัดนี้วิกฤติเริ่มคลี่คลาย ยุทธศาสตร์โลกภิวัตน์กำลังกลับมาในนาม “ประเทศไทย 4.0”
เมื่อยี่สิบปีก่อน กระแสสังคมด้านหลักพูดกันแต่ด้านดี ๆ ของการเปลี่ยนเป็นโลกาภิวัตน์ เช่นว่าจะเป็นโอกาสให้ประเทศเล็กประเทศน้อยมีโอกาสพัฒนาก้าวหน้า สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น “ทุน” จะเคลื่อนไหลอย่างเสรีเพราะโลกไร้พรมแดน อันจะช่วยให้ประเทศเล็กประเทศน้อยพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สัจธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องทุกราว มี “คู่ตรงกันข้าม” ของมัน โลกาภิวัตน์มีข้อดีต่อประเทศเล็กประเทศน้อย ก็ต้องมีข้อเสียด้วยเช่นกัน จะเกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน มีปัจจัยชี้ขาดมากมาย
ปัจจัยเหล่านั้น นับวันสลับซับซ้อนมากขึ้น จนยากจะตีแผ่ให้มวลชนเข้าใจกันได้ง่าย ๆ มีเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดอยู่ประการหนึ่ง คือเมื่อ “สงครามเย็น” ยุติลงแล้ว โลกจะสงบร่มเย็นขึ้น ภายหลังสงครามเย็น โลกเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ในสองทศวรรษที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า แม้สงครามเย็นจะยุติลง แต่สงครามรูปแบบอื่นก็ยังรุนแรงเช่นเดิม หรือกระทั่งสรุปได้ว่าร้ายแรงกว่าเดิมเนื่องจากเทคโนโลยีอาวุธก้าวหน้าไปมาก
สงครามรูปแบบใหม่นั้นคือ สงครามเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่อิทธิพลของมหาอำนาจขั้วประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ในห้วงจังหวะที่ค่ายสังคมนิยมเดิมอ่อนแอ มหาอำนาจขั้วทุนนิยมศูนย์กลางได้ก่อสงครามในยุโรปตะวันออกซึ่งฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะ ติดตามมาด้วยสงครามตะวันออกกลาง อิรัก , อัฟกานิสถาน แต่ครั้งนี้สหรัฐอเมริกายังติดปลักนี้อยู่ แม้ว่าจะกระตุ้นกระแสอาหรับสปริงส์ขึ้น ล้มผู้ครองอำนาจรุ่นเก่าไปได้หลายประเทศ แต่สถานการณ์ก็ยังเป็นอันตรายต่อค่ายสหรัฐอเมริกาอยู่ ดังเช่น เกิดกลุ่ม “รับอิสลาม” , เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย , เกิดสงครามเงียบไม่มีข่าวระหว่างซาอุดิอาระเบียกับเยเมน
ภาคพื้นตะวันออกกลางยังไม่ทันเรียบร้อยดี สหรัฐอเมริกาก็จำเป็นต้องดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนจริงจังมากขึ้น ปัญหาความตึงเครียดระหว่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน กับจีนในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ยกระดับสูงขึ้นมาก อีกทั้งยังขยายตัวลุกลามมาถึงชาติอาเซียนด้วย เมื่อพิเคราะห์เรื่องนี้ร่วมกับสถานการณ์ในยูเครนแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า “สงครามเย็น”รอบใหม่เกิดขึ้นแล้ว ค่ายสังคมนิยมเดิมได้แก่ รัสเซียกับจีนเข้มแข็งขึ้นมาก เป็นเหตุให้ค่ายสหรัฐอเมริกาต้อง “รุก” มากขึ้น เรื่องเหล่านี้มีผลต่อประเทศไทยหรือไม่ ? ตอบว่ามีอย่างแน่นอน.....
ในขณะนี้ รัฐบาลประเทศทุนนิยมศูนย์กลางแสดงท่าที เช้ามา “ยุ่ง” กับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศไทยอย่างชัดแจ้งมากขึ้น เราต้องเข้าใจว่าพวกเขามีจุดยืนรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา ในทางยุทธศาสตร์การเมืองการทหารระดับโลก ก็มีตัวอย่างเช่น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น แสดงความเป็นห่วงชัดเจนว่า กลัวไทยจะหันไปพึ่งจีนมากขึ้น จึงเรียกร้องให้สหรัฐฯแสดงบทบาทช่วยรัฐบาลไทยมากขึ้น สหรัฐเองก็ต้องการสร้างแนวฐานทัพเรือปิดล้อมจีนให้เข้มแข็ง จึงต้องการใช้ฐานทัพอู่ตะเภาของไทย
ในทางผลประโยชน์ของอภิทุนบรรษัทข้ามชาติ ก็ชัดเจนว่า ดินแดนอาเซียนเป็นแหล่งพลังงานจำนวนมหาศาล ที่อภิทุนแย่งกันเข้าครอบครอง ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางจึงใส่ใจกับสถานการณ์ในประเทศไทยมาก และมีทีท่า “เลือกข้าง” ชัดเจน จนท่าทีของนักการเมืองชาติเหล่านั้นบางรายใกล้จุดล้ำเส้นขั้น “ก้าวก่าย” กิจการภายในของประเทศไทยเรา เรื่องนี้ชาวไทยควรติดตามศึกษาให้เข้าใจด้วย จะได้ช่วยกันกำหนดทิศทางการพัฒนาของไทยเราได้ถูกต้อง