ภัยแล้ง คือภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน เป็นนิยามของคำว่าภัยแล้งจากหนังสืออุตุนิยมวิทยา ส่วนความหมายด้านอุตินิยมวิทยาของภัยแล้งนั้นก็คือ ฝนแล้ง หมายถึง สภาวะที่มีฝนน้อย หรือไม่มีฝนเลยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติควรจะต้องมีฝน โดยขึ้นอยู่กับสถานที่และฤดูกาล ณ ที่นั้นๆ ด้วย สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 ปริมาณฝนรวมประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติ และคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น และตั้งแต่เดือนมีนาคมจะมีอากาศร้อนอบอ้าว และแห้ง ความชื่นในอากาศมีน้อย และมีอากาศร้อนจัดเป็นบางวัน โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง และวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับปี 2564/2565 รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางในด้านน้ำเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินหรือจำเป็นเท่านั้น เช่น ในปี 2563 ได้นำมาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งและการป้องกันน้ำท่วม สามารถดำเนินได้ถึง 20,824 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด เพิ่มปริมาณน้ำได้ 1,057 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7.58 ล้านไร่ เช่นเดียวกับปี 2564 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 6,206 โครงการ สามารถน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น 49.95 ล้าน ลบ.ม. ได้ปริมาณน้ำบาดาล 44 ล้าน ลบ.ม. มีครัวเรือนรับประโยชน์ 364,167 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 507,849 ไร่ ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า มีการดำเนินงาน 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของแหล่งน้ำเก็บกักน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 34,174 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 59 % ของปริมาณการเก็บกัก โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 27,364 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 57 % ของปริมาณการเก็บกัก ที่เหลือเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางขนาดเล็ก ทั้งนี้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนผลการจัดสรรน้ำตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งรวม 16,678 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้จัดสรรน้ำไปแล้ว 6,326 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 38 % ของปริมาณน้ำที่จัดสรรทั้งหมด เช่นเดียวกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยตามแผนที่วางไว้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11.66 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 9.03 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 8.95 ล้านไร่ คิดเป็น 77 % ของแผน เป็นข้าวนาปรัง 7.60 ล้านไร่ คิดเป็น 84 % ของแผน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการปลูกพืชรายจังหวัด มีถึง 16 จังหวัด ที่ขณะนี้ปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมประมาณ 1.32 ล้านไร่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามแผนที่กำหนดให้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ 4.98 ล้านไร่ เป็นข้าวนาปรัง 4.27 ล้านไร่ แต่ขณะนี้มีการเพาะปลูกแล้ว 5.29 ล้านไร่ คิดเป็น 115 % ของแผน โดยเป็นข้าวนาปรัง 4.90 ล้านไร่ เพาะปลูกมากกว่าแผน 15 % หรือประมาณ 630,000 ไร่ ทั้งนี้ เราคาดหวังให้การป้องกันปัญหาและการช่วยเหลือเยียวยาลงไปครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง