รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิบากกรรมโลก!!! โควิด-19 (สุขภาพ)...สงครามทางทหาร (การเมือง).. วิกฤตเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจ)... อะไรต่อ?...(ไม่)อยากคาดเดาครับ... แม้นว่าสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนยากเกินกว่าจะคาดเดาว่าจะจบลงเมื่อใด? และอย่างไร? แต่ผลที่เกิดขึ้นได้นำมาซึ่งความเจ็บปวดและความสูญเสียมากมายให้กับทุกฝ่ายแล้ว ไม่เพียงแต่รัสเซียและยูเครนเท่านั้น!!! เพราะทุกประเทศล้วนเชื่อมโยงกันหมดทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ รัสเซียเป็นชาติที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติมากถึง 1 ใน 3 ของโลก ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศที่ผลิตอาหารรายใหญ่ เมื่อทั้งสองฝ่ายปะทะกันทางทหาร ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อชาติตะวันตัดสินใจเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโต้ตอบการบุกโจมตีทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน (อ่านเพิ่มเติมที่ Finnomena - https://www.finnomena.com/u_____n/5-sectors-rus-ukr/) ได้แก่ 1. พลังงาน – รัสเซียมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดของโลก และแหล่งสำรองน้ำมันอันดับ 8 ของโลก คาดกันว่าราคาน้ำมันดิบโลกอาจดีดตัวแตะที่ 300 ดอลลาร์/บาร์เรล 2. อาหาร – รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งโลก รัสเซียยังส่งออกวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ย คิดเป็นร้อยละ 13 ของทั่วโลก ทำให้ส่งผลต่อการผลิตอาหาร 3. การขนส่ง – การขนส่งทางทะเล ทางอากาศ และรถไฟจะถูกขัดขวาง ทำให้ค่าขนส่งแพงกว่าเดิม หรือต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่าเดิม 4. โลหะ – รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตแร่เหล็กต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล อันดับต้น ๆ ของโลก รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกนีออน ไทเทเนียม แพลเลเดียม และแพลทินัม 5. เซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำ – เป็นหัวใจแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ การยกเลิกการนำเข้าจากรัสเซียจะซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลน “ชิป” ให้หนักยิ่งกว่าเดิม นอกจากผลกระทบต่อ 5 อุตสาหกรรมสำคัญข้างต้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเข้าใกล้อื่น ๆ เช่น ราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงถ้วนหน้า ธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศสะดุด ค่าเงินตกต่ำ เงินเฟ้อทะยานทั่วโลก การโจมตีทางไซเบอร์ ฯลฯ ด้านบทบาทของไทยที่มีต่อสงครามรัสเซียกับยูเครนนั้น นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวไว้ว่า “จุดยืนของไทย ควรเป็นจุดยืนของการต่อต้านสงคราม และต่อต้านการรุกรานประเทศอื่น และต่อต้านการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน สนับสนุนสันติภาพและการเจรจาเพื่อยุติสงคราม และยุติความรุนแรงนองเลือดเพิ่มเติม เน้นให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเท่าที่ทำได้ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัวเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นโยบายต่างประเทศควรวางตัวเป็นกลาง เพราะความขัดแย้งและสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น มีความซับซ้อนมาก และประเทศไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว จึงไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และผู้บริหารนโยบายต่างประเทศต้องรู้ว่าผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร การรักษาสมดุล และการลำดับสำคัญของการดำเนินนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐบาลต้องรีบจัดส่งหน่วยงานปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครนโดยด่วน" (อ่านเพิ่มเติมที่ อินโฟเควสท์ - https://www.ryt9.com/s/iq03/3301688) แล้วท่านผู้อ่านละครับ...คิดอย่างไร? กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ตั้งอยู่บนความกังวลอันชอบธรรมที่จะปกป้องตนเอง แต่ก็เป็นความท้าทายใหม่ของโลกที่ฉีกกฎเกณฑ์เก่า...หนักหน่วงขึ้นหรือบรรเทาลง ลุกลามขยายไปภูมิภาคอื่น จบในเร็ววันหรือยืดเยื้อยาวนาน จบบนโต๊ะเจรจาหรือจบด้วยปลายปืนหรือนิวเคลียร์ ฯลฯ คอยติดตามความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศ ที่จะสะท้อนผ่าน “สวนดุสิตโพล” ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้นะครับ