สถาพร ศรีสัจจัง
สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์(พ.ศ.2553) หรือที่นักฟังเพลงในสังคมไทยรู้จักกันในนาม “หงา คาราวาน” อาจารย์ใหญ่สายเพลงเพื่อชีวิต หัวหน้าวงดนตรี “คาราวาน” ที่เป็น “วงต้นแบบ” ของวงดนตรีเพื่อชีวิตมาตั้งแต่ยุค “14 ตุลาฯ” นั้น ต้องถือว่าเป็นนักแต่งเพลงและนักร้องร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างสรรค์ “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution Lyric)ให้ไว้กับสังคมไทยเป็นจำนวนมาก
สุรชัย มีพื้นเพเป็นคนอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เรียนจบชั่น ม.ศ.3 ที่จังหวัดนั้น แล้วก็เข้ามา “แสวงหา” ที่กรุงเทพมหานคร ตั้งใจจะเรียนสายศิลปะ จึงเรื่มที่วิทยาลัยเพาะช่าง(1ปี) แล้วไปเริ่มใหม่ที่วิทยาลัยช่างศิลป์(ไม่ตลอดรอดฝั่งเช่นกัน) ขณะที่ร่ำเรียนนั้น ต้องหาเงินส่งเสียตัวเอง และเนื่องจากมีญาติสนิทรุ่นพี่คือเสถียร จันทิมาธรอยู่ในแวดวงของนักเขียนรุ่นใหม่ ประกอบกับตัวเองก็มีพื้นฐานและความรักในด้านนี้เป็นทุนเดิม จึงเริ่มต้นงานเขียนหนังสือตั้งแต่ยุคยังนุ่งกางเกงขาสั้น เริ่มมีงานเรื่องสั้นและภาพประกอบปรากฏในนิตยสารต่างๆมาตั้งแต่ช่วงนั้น(ยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516)
จากนั้นก็เขียนหนังสือต่อมาเรื่อยๆ ทั้งเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ นวนิยาย และโดยเฉพาะ “บทเพลง”
ใน “คำประกาศเกียรติคุณ” ของกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปีพ.ศ. 2553 นั้น มีเนื้อความสำคัญบางตอน ที่บอกถึงความเป็น สุรชัย จันทิมาธร ไว้ว่า
“…สุรชัย จันทิมาธร เป็นทั้ง นักเขียน กวี และ คีตศิลปิน มีผลงานเขียนทั้ง เรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย และ บทเพลง…ผลงานดังกล่าวแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบ และกลวิธีการนำเสนอ ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายแต่มีวรรณศิลป์ ความโดดเด่นอย่างยิ่งคือ การสะท้อนภาพสังคมของผู้ยากไร้ ทั้งในเมืองและชนบท …เป็นงานที่มีพลังทางปัญญาและทางอารมณ์เป็นอย่างสูง …การสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น บทกวี บทเพลง ล้วนเป็นเรื่องเล่า (narative)ที่มีวรรณศิลป์อันทรงคุณค่าต่อวงวรรณกรรมและสังคมไทย”
และสรุปว่า :
“…การเขียนวรรณกรรม การเขียนเพลง การเล่นดนตรี เป็นน้ำเนื้อเดียวกันในชีวิตของสุรชัย จันทิมาธร …เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความเป็นศิลปิน (Artist) ของสุรชัย ทั้งผลงานและจิตวิญญาณ มีพลังกระทบ(Impact)ต่อสังคมไทยอย่างแข็งแกร่ง ชื่อของสุรชัย จันทิมาธร จึงเป็นหมุดหมายที่ตรึงแน่น อยู่บนพื้นที่แห่งศิลปวัฒนธรรมไทย ที่กาลเวลาไม่อาจลบเลือน"
กล่าวเฉพาะ “บทเพลง” จนถึงปัจจุบัน (ต้นปี 2565) สุรชัย จันทิมาธร ทั้งในฐานะ “นายวงคาราวาน” และ ในฐานะ “ส่วนตัว” ได้สร้างสรรค์บทเพลงไว้แล้วมากกว่า 50 อัลบั้ม/แผ่น จำนวนเพลงอาจนับได้เป็นหลายร้อยเพลง ในบรรดาเพลงเหล่านั้น มีเพลงที่อาจจัดได้ว่าเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revotion lyric) เป็นจำนวนมาก จนยากที่จะออกชื่อได้หมด
สุรชัยเริ่มต้นงานสร้างสรรค์วรรณศิลป์ด้วยงานเขียนเชิงวรรณกรรม เนื่องจากเมื่อเข้ามากรุงเทพฯแรกๆ ได้อาศัยอยู่กับญาติที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง คือ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในวงนักเขียนรุ่นใหม่ๆของช่วงต้นทศวรรษ 2510 ทำให้มีโอกาสได้รู้จักสนิทสนมกับผู้คนในวงการดังกล่าว เช่น รงค์ วงษ์สวรรค์(หนุ่ม)/ประมูล อุณธูป(อุษณา เพลิงธรรม)/สุวรรณี สุคนธา/ประเสริฐ จันดำ/และนักเขียนกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาวสวย” แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงนักเขียนกลุ่ม “พระจันทร์เสี้ยว”แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฟังว่าผู้หัดกีร์ตาเบื้องต้นให้กับสุรชัย คือเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว ที่ชื่อ ปุ้มโนภาษ เนาวรังษี(อดีตอาจารย์ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี/นักแปลฝีมือดี) และ ตอนหลังสุรชัยก็มักสัญจรแวะไปพักตามบ้านเช่าของเพื่อนพ้องนักศึกษาหนุ่มจากอีสานที่มีรสนืยมเดียวกันอยู่บ่อยๆ
เพลง “คนกับควาย” ซึ่งเป็นเพลงแรกของวง “คาราวาน” ยุค “ท.เสน กับ สัญจร” (ท.เสนเป็นนามปากกาของสุรชัย ส่วน “สัญจร” เป็นนามปากกาของ วีรศักดิ์ สุนทรศรี) ซึ่งสุรชัยเป็นคนร้องนำ ก็เกิดขึ้นในช่วงยามนี้เอง ฟังมาอีกว่าเหตุเกิดจากการที่สุรชัยได้ฟังเพลง “Master oF War” ของ Bob Dylan จากแผ่นเสียงที่บ้านของเสถียร จันทิมาธร แล้วชอบ จึงดีดกีร์ตาเล่นทำนองอยู่บ่อยๆ สมคิด สิงสง ได้ฟังจึงแต่งเนื้อร้องขึ้น แล้วร่วมเล่นกันแบบเอาสนุก โดยมีสมคิดเป็นผู้เล่นไวโอลิน ภายหลังมี วิสา คัญทัพ มาเสริมแต่งเนื้อเพลงจนสมบูรณ์ขึ้น
ฟังมาอีกแหละว่า สุรชัย เล่นเพลงนี้ครั้งแรก(ร่วมกับวีรศักดิ์ สุนทรศรี) ในงานแต่งของวีรประวัติ วงศ์พัวพัน แห่งชมรมพระจันทร์เสี้ยวนั่นเอง
หลังจากนั้น งานเดินขบวน งานประท้วงรัฐบาลในเรื่องต่างๆของขบวนการนักศึกษาก็ค่อยๆทวีปริมาณชุดขึ้น จนก่อเกิดเหตุการณ์ยิ่งใหญ่เหตุการณ์หนึ่งขึ้นในระเทศไทย คือ “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ” ในปีพ.ศ. 2516
เป็นเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้ด้วยว่า เป็นครั้งแรกในโลกที่ขบวนการนักเรียนนักศึกษาได้กระตุ้นชักชวนประชาชนเข้าร่วมก่อการต่อสู้โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารได้สำเร็จ!
ในห้วงยามนี้เองที่วง “คาราวาน” ได้ผนวกรวมเข้ากับวง “บังคลาเทศ แบนด์” แห่งเทคนิคโคราช กลายเป็นวง “คาราวาน” เต็มรูป ประกอบด้วยสมาชิกรวม 4 คน คือ วีระศักดิ์ สุนทรศรี/มงคล อุทก/ทองกราน ทานา โดยมี “สุรชัย จันทิมาทร”เป็นหัวหน้าวง
แล้วอัลบั้มเพลงยุคแรกของวง “คาราวาน” ที่มีสุรชัย จันทิมาธร เป็นผู้แต่งเพลงและนักร้องนำหลัก ก็เกิดขึ้น ในชื่อชุด “คนกับควาย” ก่อนที่ชุด 2 คือชุด “อเมริกันอันตราย” จะออกติดตามมา!!