แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ถึงสถานการณ์การระบาดหลังปีใหม่ กับฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ผู้ติดเชื้อรายวันอาจถึง 30,000 ราย และคาดการณ์อัตราผู้เสียชีวิต170-180 รายต่อวัน ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พบนั้นอยู่ในห้วง 20,000 รายต่อวันบวก-ลบ และอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 40 ราย
แม้สถานการณ์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ ยังเฝ้าระวังกันว่าอาจจะได้เห็นจุดพีคของโอไมครอน ในขณะที่รัฐบาลยังคงผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งหากยังคงมาตรการต่างๆ เช่นในปัจจุบันจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าอาจได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงไปถึง 50,000 รายต่อวันหรือมากกว่านั้นคือ 100,000 รายต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลาของการระบาดใหญ่ของโอไมครอนจะยาวนานแค่ไหนนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า หากเทียบการระบาดที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปประมาณ 1-2 เดือน ตอนนี้ไทยเริ่มระบาดแล้ว 1-2 เดือนคือ 4-8 สัปดาห์ ดังนั้นจะเหลือเวลาอีกประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มทรงตัว และลดลงได้ หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มาตรการยังเข้ม ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากขึ้น
ทั้งนี้ เราไม่ต้องการเห็นภาพระบบสาธารณสุขล่มสลาย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แม้โอไมครอนที่เป็นสายพันธุ์หลักระบาดอยู่ในขณะนี้ จะติดต่อง่ายโดยทำให้การติดเชื้อสูงขึ้น 10 เท่า แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตา โดย เฉลี่ย 14 วัน ติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นคน มีผู้ป่วยรักษาอยู่ในระบบ HI/CI ประมาณ 60-70% ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ยังอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ แต่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง โรคอ้วน และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
กระนั้น แม้ความรุนแรงของโอไมครอน จะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นแม้รัฐบาลจะไม่ล็อกดาวน์ หรือเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นใดๆ หลังจากนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ แต่พี่น้องประชาชนจึงต้องยกระดับมาตรการป้องกันตนเองอย่างสูงสุด เพื่อดูแลตนเอง คนใกล้ชิด และชุมชน