เสือตัวที่ 6
การสู้รบของกองทัพรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตรของยูเครนที่ไม่เปิดเผยตัว ได้พัฒนาไปสู่ความหวาดวิตกขั้นสูงสุดของมวลมนุษยชาติ เป็นความเปราะบางที่หมิ่นแหม่ต่อสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า อาจเป็นหายนะของคนในโลกยุคนี้ที่ซ้ำเติมจากความบอบช้ำมาจากวิกฤติโรคระบาดจากไวรัส COVID-19 ที่ทำลายระบบของโลกในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ และระบบเศรษฐกิจของโลกให้ค่อยๆ ย่อยยับมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาและยังไม่มีทีท่าว่าจะจางหายไป ซึ่งลำพังแม้ไม่มีไวรัสร้ายตัวนี้บังเกิดมาคุกคามมนุษย์โลกอย่างที่เป็น ภาวะเศรษฐกิจโลกก็ย่ำแย่อยู่แล้วเป็นลำดับ และในห้วงนี้ ที่มีการใช้กำลังทหารจากประเทศยักษ์ใหญ่ในฐานะที่มีอาวุธทำลายล้างสูงซึ่งก็คือขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์เรียกได้ว่า มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองมากที่สุดในโลกอย่างรัสเซียเข้าไปหมายยึดครองประเทศเล็กกว่าอย่างยูเครน ก็สร้างความตกตะลึงต่อการตัดสินใจในการใช้กำลังกองทัพของผู้นำรัสเซียครั้งนี้มากที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
และเมื่อสถานการณ์การรุกคืบของกองทัพรัสเซียยังไม่บรรลุเป้าหมายทางทหารในห้วงเวลาที่ประมาณการไว้ ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นต่อรัสเซีย อันจะทำให้รัสเซียยิ่งถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กระทำต่อรัสเซียโดยขยายวงกว้างไปในประเทศต่างๆ ในโลกที่กลังออกมาแสดงท่าทีต่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างระมัดระวังยิ่ง เพราะรัสเซียที่ยังมียักษ์ใหญ่ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอย่างจีนเป็นพันธมิตรอยู่ในเอเซีย ย่อมส่งผลต่อการแสดงท่าทีใดๆ ของประเทศเล็กๆ และประชาคมเล็กเล็กอย่างไทยและอาเซียนที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงในสถานการณ์อันเปราะบางเช่นนี้
และหากสถานการณ์การสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อเท่าใด ย่อมส่งผลต่อท่าทีของผู้นำรัสเซียอย่างปูตินให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการใช้กำลังกองทัพและอาวุธที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ จากตัวกระตุ้นสำคัญคือท่าทีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจองประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ NATO ซึ่งเป็นปรปักษ์โดยตรงต่อรัสเซีย ที่จะเป็นตัวเร่งให้ปูตินอาจตัดสินใจใช้กำลังที่รุนแรงขึ้นจนถึงขั้นใช้อาวุธนิเคลียร์ โดยเมื่อการสู้รบยืดเยื้อขึ้น และปูตินรับรู้ว่า ท่าทีของฝ่ายตรงข้ามรัสเซียทั้งหลาย กำลังสนับสนุนยูเครนในรูปแบบต่างๆ ผู้นำอบย่างปูตินย่อมตัดสินใจตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของเขาในทุกรูปแบบเช่นกัน ซึ่งนั่น นักความมั่นคงทั้งโลก ไม่อาจประเมินการตัดสินใจของผู้นำอย่างปูตินได้ เพราะปูตินได้แสดงออกมาชัดเจนแล้วว่า รัสเซียจะใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหายูเครนและกลุ่ม NATO ที่กำลังรุกคืบเข้ามาใกล้รัสเซียโดยการขยายสมาชิก NATO ในภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง
เมื่อประธานาธิบดีปูติน เห็นว่า ชาติตะวันตกได้ดำเนินท่าทีที่ไม่เป็นมิตร อีกทั้งใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อรัสเซีย เขาจึงตัดสินใจสั่งการให้กองทัพรัสเซียจัดการให้กองกำลังที่รับผิดชอบด้านอาวุธนิวเคลียร์เตรียมพร้อมขั้นสูงสุดเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นระดับการแจ้งเตือนสูงสุดของกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Missile Forces) ของรัสเซีย คำสั่งดังกล่าวของนายปูตินจะเปิดทางให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้นและมีความเป็นไปได้สูง แม้จะมีบางคนเห็นว่า คำสั่งนี้ เป็นเพียงวิธีที่รัสเซียใช้ในการส่งสัญญาณเตือนเชิงข่มขู่ไปถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO เพื่อเป็นการป้องปรามการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน และเพื่อตอบโต้การแสดงท่าทีต่อหลายๆ ประเทศในประชาคมโลกในการอยู่ตรงข้ามรัสเซียมากกว่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่ามีความตั้งใจที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงก็ตาม หากแต่ว่านักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงย่อมตระหนักดีว่า คนอย่างปูตินนั้น ไม่ใช่คนธรรมดาที่จะคาดการณ์การตัดสินใจใดๆ ของเขาได้ อีกทั้งมีอีกหลายฝ่ายที่วิตกกังวลต่อคำสั่งของปูตินเรื่องนิเคลียร์ครั้งนี้ที่วิเคราะห์ว่านี่เป็นสัญญาณถึงความโกรธเกรี้ยวของนายปูติน ต่อมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก และความหวาดวิตกว่ารัสเซียกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามจาก NATO โดยนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก็ออกมาวิจารณ์ท่าทีของรัสเซียต่อคำสั่งเตรียมพร้อมขั้นสูงสุดของกองกำลังด้านอาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และทำให้เห็นความก้าวร้าวของรัสเซียที่มีต่อยูเครนมากยิ่งขึ้น ขณะที่นายดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ก็ออกมากล่าวว่า หากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครนจริงๆ มันคงเป็นหายนะของคนทั้งโลก
หลังสหภาพยุโรปมีคำสั่งห้ามเกี่ยวกับเครื่องบินของรัสเซียเข้าน่านฟ้าของตัวเอง นอกจากนี้สวิตเซอร์แลนด์ได้ร่วมกับสหภาพยุโรปคว่ำบาตรรัสเซียด้วย รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการประกาศห้ามเที่ยวบินจากสายการบินใน 36 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร เยอรมนี สเปน อิตาลี และแคนาดา การกดดันจากหลายๆ เรื่องของพันธมิตรของ NATO ยิ่งทำให้รัสเซียถูกบีบจากทุกทิศทุกทาง ซึ่งปูตินย่อมคิดได้ว่าหากเผด็จศึกครั้งนี้ยืดยาวออกไป ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียในวงกว้างและตกต่ำถึงขีดสุดไปอีกนานหลายปี ขณะที่การเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้เริ่มขึ้นแล้วในเบลารุส
ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นของรัสเซีย กล่าวว่าเบลารุสจะกลับมาครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หากชาติตะวันตกนำเอาอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงเหล่านี้ เข้ามาติดตั้งใกล้กับพรมแดนของตน หาก MATO ส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้โปแลนด์หรือลิทัวเนีย หรือเอาเข้ามาประจำการตามแนวพรมแดนของเบลารุส นายลูกาเชนโก ก็พร้อมให้ประธานาธิบดีปูตินคืนอาวุธนิวเคลียร์ที่เบลารุสเคยส่งมอบให้กลับมาติดตั้งในเบลารุสโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยให้ประเทศของตน ซึ่งพร้อมจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซียในการต่อต้านอิทธิพลของ NATO สถานการณ์ที่พัฒนาไปจากวัน D-DAY ที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในช่วงต้นของปี 2022 จนถึงวันนี้ จึงไม่มีใครสามารถคาดเดาจุดสุดท้ายของแต่ละฝ่ายได้ ยิ่งนานวัน การช่วงชิงความได้เปรียบของทั้งสองฝ่ายยิ่งพัฒนาไปในรูปแบบที่มีแนวโน้มอันรุนแรงขึ้น สงครามในยุคนี้ ย่อมแตกต่างจากสงครามยุคก่อน ด้วยต่างฝ่ายต่างมีอาวุธทำลายล้างสูงอยู่ในครอบครองจำนวนมหาศาล ซึ่งหากมองในมุมหนึ่ง อาจวิเคราะห์ได้ว่า ต่างฝ่ายต่างต้องมีความยับยั้งชั่งใจในการใช้กำลังมากขึ้นหลายเท่า หากแต่อีกแง่มุมหนึ่ง เมื่อเข้าตาจน ผู้นำคู่ขัดแย้งอาจไม่มีทางเลือกอื่น อาวุธทำลายล้างสูงจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในสงคราม ซึ่งนั่น เป็นความเปราะบางที่ผู้นำทุกประเทศต้องระมัดระวังอย่างสูงสุด