ชีพจรโลกจับตาสถานการณ์ในยูเครนจะลงเอยแบบใด แม้จะมีการคาดการณ์กันว่า วิกฤติความขัดแย้งจะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยไม่เกิดสงครามบานปลาย เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระนั้น สงครามเย็น การประลองกำลังและแสดงท่าทีคุกคาม และไม่น่าไว้วางใจระหว่างมหาอำนาจ 3 ขั้ว สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ยังคงดำเนินต่อไปรอวันปะทุ เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์และทรัพยากร
ในขณะที่มีดราม่านักการเมืองไทยที่ออกมาแสดงจุดยืนกรณีดังกล่าว โดยไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง จึงขออนุญาตนำความเห็นของนักวิชาการเพื่อประโยชน์ในการมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมานำเสนอดังนี้
ดร.พนา ทองมีอาคม นักวิชาการด้าน สื่อมวลชน อดีตอาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน ว่า
"...บ้านเรามักรับข่าวสารเรื่องรัสเซียและยูเครนจากมุมมองของโลกตะวันตก คนไทยจึงมักมีภาพของรัสเซียเป็นผู้ร้าย โดยที่เราไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมรัสเซียจึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวเช่นนั้น
ถ้าจะเข้าใจปูตินต้องย้อนกลับไปถึงครั้งล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ครั้งนั้นเมื่อมีการประกาศสิ้นสุดสงครามเย็น มีการ ประชุมสุดยอดระหว่าง กอร์บาชอฟ กับจอร์จ บุช และต่อมาหลังจากนั้น รมต.ต่างประเทศ เจมส์ เบเกอร์ ของอเมริกัน ได้แถลงให้ความมั่นใจกับรัสเซียว่า การคงกำลังของนาโตในเยอรมันเพียงเป็นไปตามพันธะในสนธิสัญญา นาโตจะไม่ขยายเขตอำนาจเข้าไปทางตะวันออกแม้แต่นิ้วเดียว
หลังการล่มสลายของโซเวียต จอห์น เมเจอร์ นายกฯอังกฤษก็ให้คำมั่นว่า จะไม่มีการเสริมความเข้มแข็ง ให้กับนาโต วันเวลาหลังผ่านไป 30 ปี นาโตกลับขยายกลุ่มประเทศในสังกัดเข้าไปประชิดพรมแดนรัสเซีย จะเรียกว่าจ่อคอหอยก็ว่าได้
จากพรมแดนร่วมแนวสั้นๆ กับรัสเซียแถว สแกนดิเนเวีย ปัจจุบันนาโตขยายรวมเอาประเทศในกลุ่มบอลติกที่เคยเป็นรัฐในสหภาพโซเวียตสามแห่งเข้าเป็นประเทศสมาชิกนาโต
เขตรอยต่ออำนาจที่เคยเป็นแนวสั้นๆ ได้ขยายเข้าไปทางตะวันออกมากกว่า 1000 กม. และเข้าไปประชิด เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับสองของรัสเซียแค่ไม่ถึง 200 กม. และห่างจากมอสโกราวๆ 600 กม. เท่านั้น
มีประเทศในอดีตกลุ่มวอร์ซอ แพ็กถึง 7 ประเทศที่แปรพักตร์ไปเข้าเป็นสมาชิกนาโต ยังมีการสัญญาแบบไม่เป็นทางการอีกด้วยว่า ที่สุดแล้วนาโตจะรับยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกอีกด้วย
ถ้าอยากเข้าใจสถานการณ์ก็ต้องเข้าใจมหาอำนาจและการรักษาฐานป้องกันประเทศของประเทศเหล่านี้
เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์คิวบา โซเวียตไปตั้งฐานทัพในคิวบาและขนจรวดไปติดตั้ง ทั้งๆ ที่คิวบาก็เป็นประเทศอิสระและอยู่ห่างจากอเมริกากว่า 1,000 ก.ม. (ขึ้นอยู่กับว่าวัดจากจุดไหน)
อเมริกาก็ยอมรับไม่ได้ และส่งกำลังทางเรือไปปิดล้อมคิวบา เอาเรือรบไปเผชิญหน้าสกัดกองเรือโซเวียตกลางทะเลหลวง
มาครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน รัสเซียรู้สึกว่าฝ่ายตะวันตก ปิดล้อมใกล้เข้ามาทุกทีจนมาจ่อคอหอย เป็นจุดที่มหาอำนาจแบบรัสเซียถอยอีกไม่ได้แล้ว เพราะหากเกิดสงครามขึ้นมา พิสัยการรบใกล้ๆ แบบนี้ ไม่มีทางป้องกันตัวได้ทัน ถ้าเกิดถูกโจมตีด้วยจรวดหรือเครื่องบินรบสมัยใหม่
ยังมีภัยคุกคามเรื่องการทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมระหว่างกัน หรือการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศนาโต เช่น ถ้ายูเครนบุกเข้ายึดไครเมียและเป็นสมาชิกนาโตด้วย นั่นจะดึงให้รัสเซียต้องทำสงครามกับกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกาไปด้วย
ในสายตาของรัสเซีย พวกเขามองว่าอดีตรัฐในโซเวียต เช่น ยูเครนและเบลารุส เป็นเสมือนญาติใกล้ชิดเนื้อเดียวกัน มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน มีคนรัสเซียหรือพูดรัสเซียจำนวนมากในประเทศเหล่านี้
รัสเซียในฐานะแกนกลางของสหภาพโซเวียต เคยช่วยเหลือเกื้อหนุนรัฐเหล่านี้มามาก เมื่อรัสเซียเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็ได้เผื่อแผ่การพัฒนาให้ ช่วยสร้างอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจ และให้อาวุธแก่รัฐในสหภาพเหล่านี้
ครั้งสหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็มีแต่รัสเซียนี่เอง ที่ยอมก้มหน้าแบกรับภาระหนี้และพันธะต่างๆ แทน สมาชิกอื่นๆ ดังนั้น ความบาดหมางต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง ที่ผ่านมา จึงเป็นเพราะมีคนนอกเข้าไปปลุกปั่นยุแหย่ และเกิดจากการแสวงหาอำนาจส่วนตัวของนักการเมืองที่อิงศัตรู ร่วมมือกับประเทศที่เป็นอริ
นี่เป็นมุมมองโดยประมาณของรัสเซีย วันนี้สื่อและคนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารจากโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ สำนักข่าวใหญ่ ๆ ที่ป้อนข่าวให้สื่อไทยล้วนเป็นสื่อค่ายตะวันตกทั้งนั้น การรับรู้มุมมองของรัสเซียด้วย จะทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และไม่ไปหลงเชียร์ข้างใดข้างหนึ่งจนประโยชน์ประเทศไทยเสียไป
พึงระลึกเสมอว่า สงครามคือความเดือดร้อนที่จะกระทบทั่วโลกรวมถึงตัวเราทุกคนด้วย..สงครามไม่ใช่การเชียร์มวย...”