ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมเกิดจากการบริหาร,การกระจายอำนาจ,การแบ่งสันปันส่วนงานรับผิดชอบ ให้สมดุลระหว่างพลังสามส่วน คือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในอดีต ภาครัฐใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจสังคมและการเมืองสากลเปลี่ยนแปลงไป ภาครัฐไม่อาจแบกรับงานให้ดีทั้งหมด ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเศรษฐกิจ
ในขณะที่ถ้าภาครัฐฮั้วกับภาคเอกชน การเอารัดเอาเปรียบประชาชนก็จะรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งมาถ่วงดุลแต่ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทย แทนที่“รัฐบาล” จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีอิสระในการดำเนินธุรกิจและแข่งขันมากขึ้น กลับเพิ่มอัตราส่วนที่ภาครัฐเข้าไปบริหาร
ทั้ง ๆ ที่การทำงานของภาคราชการส่วนข้างมากมีข้ออ่อน บทเรียนที่เจ็บปวดคือ เมื่อให้รัฐทำ ก็รับประกันได้สามเรื่องคือ คุณภาพต่ำ ต้นทุนสูง และไม่เพียงพอทิศทางที่ควรจะก้าวไปคือ ลดบทบาทของรัฐลงเรื่อย ๆ ดดยเฉพาะบทบาทในด้านธุรกิจ
การที่ภาครัฐต้องประสบปัญหารายจ่ายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการที่กิจการภาครัฐ ไม่สามารถปรับระบบการบริหารเพื่อให้สามารถสนองตอบภาวะที่มีการแข่งขันและโลกาภิวัตน์ได ความต้องการของประชาชนที่ต้องการรับบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพที่คุ้มค่าของเงินก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ภาวะเสรีทางการค้า ซึ่งมีผลต่อการลงทุนข้ามชาติและการแข่งขันด้านต่างๆ นี้ ทำให้เกิดกฎเกณฑ์กติกาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐแบบใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งทำให้ส่วนงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดยุทธศาสตร์การปรับตัวของภาครัฐเองและเสริมสร้างสมรรถนะให้ทัดเทียมกับภาคเอกชนด้วยการใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกัน ทั้งนี้เพื่อที่รัฐจะได้สามารถดำเนินการตามภารกิจของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินการของประชาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเงื่อนไขเหล่านี้เป็นรากฐานที่ทำให้กิจการภาครัฐต้องเรียนรู้และอาศัยแนวคิด เทคนิค วิธีการ จากภาคเอกชนมาช่วยเสริมสร้างศักยภาพของฝ่ายตน
การเปลี่ยนแปลงขอบข่ายการบริหารกิจการภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อตอบรับกับสถานการณ์โลกาภิวัตน์ และภาระการแข่งขันทางการค้ามีดังนี้
1.การแสวงหาวิธีการสร้างระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น คุ้มกับมูลค่าของเงินงบประมาณที่ได้ใช้จ่ายไป
2.การลดบทบาทในการดำเนินงานของกิจการภาครัฐบางประเภททั้งนี้เนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถ และศักยภาพในการดำเนินงานได้ดีกว่า
3.การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการกิจการภาครัฐในการดำเนินการ และบริการ
4.การปรับสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานภาครัฐให้มีศักยภาพสูงขึ้น และมีแนวคิดและพฤติกรรมที่เหมาะกับการดำเนินงานในภาวะที่มีการแข่งขัน
5.การลดค่าใช้จ่ายทุกๆ ด้านนับตั้งแต่ค่าใช้จ่ายบุคคล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และ ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง