ทวี สุรฤทธิกุล
ผู้เขียนไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือท่องเที่ยวกรีกและอิตาลี คนเขียนหนังสือเล่มนี้ได้โปรยพื้นความรู้เกี่ยวกับประเทศทั้งสองในสมัยโบราณไว้อย่างย่นย่อ เพียงแค่พอให้มองเห็นการเชื่อมโยงเข้าของอดีตเข้ากับปัจจุบัน โดยบอกว่านักท่องเที่ยวสมัยนี้เวลาที่ไกด์อธิบายอะไรให้ฟัง ก็ทำหน้างง ๆ เหมือนฟังไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีความรู้อะไร ทำให้ไม่สนใจฟัง เบื่อหน่ายข้อมูลต่าง ๆ และทำให้การท่องเที่ยวไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะเอาไป “ประเทืองปัญญา” หรือ “พัฒนาตัวเอง”
หนังสือเล่มนี้มีส่วนที่เขียนถึงการเมืองการปกครองของกรีกและโรมันโบราณ(ที่ก็คืออิตาลีในปัจจุบัน) โดยบอกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นที่กรีกเป็นชาติแรก สมัยนั้น(เมื่อกว่า 3,000 ปี) คนที่พอมีฐานะก็ชอบที่จะมาประชุมกัน เพื่อคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเมือง แล้วก็ทำให้เกิดระบบรัฐสภาขึ้น คนที่มีฐานะ(เช่น ร่ำรวย หรือมีคนนับหน้าถือตา)ก็คือผู้แทนราษฎรในยุคแรก ๆ พอมาถึงสมัยโรมันก็ได้คิดระบบ “ถ่วงดุลอำนาจ” คือปกครองในระบบกงสุล (Consul) มีการเลือกผู้นำขึ้น 2 คน เรียกว่ากงสุล มีวาระคราวละ 1 ปี แล้วผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป (ซึ่งได้สร้างระบบให้ผู้นำต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้ อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่นั่งทู่ซี้อยู่ไป 8 ปี 20 ปี แบบบางประเทศ) แม้ว้าอาณาจักรทั้งสองจะล่มสลายไปแล้ว แนวตคิดของทั้งสองอาณาจักรโบราณนี้ก็ยังได้รับการพัฒนาต่อมา
ระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษนั้นเอาแบบอย่างมาจากกรีก ที่ใช้ระบบการปรึกษาหารือร่วมกัน แต่ของอังกฤษจะแบ่งเป็น 2 สภา มีสภาขุนนางกับสภาผู้แทน เพื่อให้กระบวนการทางรัฐสภามีความรอบคอบ โดยสภาผู้แทนจะเป็นผู้ออกกฎหมาย โดยมีสภาขุนนางคอยกลั่นกรองก่อนที่จะประกาศให้ใช้อีกชั้นหนึ่ง ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาเอาแบบอย่างมาจากโรมัน เพราะประธานาธิบดีแม้จะมีอำนาจสูงสุด แต่ก็มีศาลสูงสุดและรัฐสภาที่สามารถถอดถอนประธานธิบดีได้ อย่างไรก็ตามหัวใจของระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ความเป็นตัวแทนและการถ่วงดุลเท่านั้น แต่จะต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านผู้นำได้อย่างราบรื่น การเมืองของประเทศนั้น ๆ จึงจะมีเสถียรภาพ
ประชาธิปไตยของโลกมีปัญหามากในช่วงหลังทศวรรษปี 1990 ไม่เพียงแต่ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซียจะล่มสลาย แต่ระบอบประชาธิปไตยก็ถูกกดดันจากประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ ในความต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในทางการเมืองการปกครอง ดู ๆ ไปแล้วก็เหมือนจะย้อนไปสู่ยุคกรีกและโรมันนั่นเลยทีเดียว ครั้นพอหลังสหัสวรรษปี ค.ศ. 2000 การเรียกร้องในหลาย ๆ ประเทศก็รุนแรงมากขึ้น อย่างกรณีที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก แต่ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะการเรียกร้องประชาธิปไตย “ทางตาง” ในหลาย ๆ ประเทศ ที่รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย
มีงานวิจัยของนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งให้คำอธิบายว่า การตื่นตัวของประชาธิปไตยทางตรงเป็นผลมาจาก “ความล้มเหลว” ของรัฐบาลประชาธิปไตยเอง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน อย่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพราะปรากฏว่าบรรดาผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปนั้น ได้กลายเป็น “คณาธิปไตย” คือพอได้รับเลือกเข้าไปและได้ปกครองประเทศแล้ว ก็เข้าไปรวมกลุ่มกันรักษาอำนาจของพรคพวกตัวเอง ที่เห็นชัด ๆ ก็คือการแข่งขันกันของพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ที่ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงเพื่อให้ได้เป็นเสียงข้างมาก แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การที่แต่ละพรรคก็พยายามที่จะรวมกลุ่มผลประโยชน์หรือแสวงหาประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ที่ไม่ใช่กระทำเพื่อประชาชนอีกต่อก็คือไป แต่เป็นการกระทำเพื่อพวกพ้องและพรรคของตนเองเท่านั้น
ล่าสุดสภาพปัญหาของประชาธิปไตยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ อย่างที่ได้เห็นความวุ่นวายในสหรัฐอเมริกาภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2021 และในบางประเทศอย่างประเทศไทย(ที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตย แต่ถูกเผด็จการกดครอบไว้) ประชาชนก็รู้สึกขมขื่นกับประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก ซึ่งในกรณีของประเทศไทยนั้น ประชาชนกลุ่มใหญ่อยู่ในขั้นที่ถึงกับว่ายกประเทศให้ทหารปกครองไปเรื่อย ๆ ได้เลย ด้วยเหตุที่เบื่อนักการเมืองเต็มที เพราะมีผู้แทนที่ไร้คุณภาพ ชอบก่อความวุ่ยวาย ซ้ำร้ายผู้แทนนั่นเองที่ยอมสยบก้มหัวให้กับทหารมาโดยตลอด
แต่ที่เป็นประเด็นนำมาสู่การเขียนบทความนี้ก็คือ กระแสการเรียกร้องให้มีการล้มเลิกระบบรัฐสภาและไม่ต้องมีผู้แทนราษฎรอีกต่อไป ซึ่งผู้เขียนได้เจอในการเข้าไปติดตามเพจของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่มีมาได้สัก 2-3 ปี คืออาจจะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั่นเอง เพราะมีการกล่าวโจมตี ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น โดยเฉพาะ ส.ส.ในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล พร้อมกันนั้นก็โจมตี ส.ว.ที่มาจากกระบวนการที่รัฐบาลควบคุมจัดการนั้นด้วย ในลักษณะที่หยาบคายรุนแรงไม่แพ้กัน
ผู้เขียนในฐานะนักรัฐศาสตร์ก็พอมีความรู้มาบ้างว่า ระบบที่ไม่มีรัฐสภานั้นก็คือ “ระบอบอนาธิปไตย” แต่ถ้ามองด้วยแนวคิดที่ย้อนยุคไปถึงสมัยกรีกและโรมัน ก็อาจจะเทียบเคียงได้ว่า เมื่อแรกเริ่มมีประชาธิปไตยในโลกนี้ที่เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” ประชาธิปไตยทางตรงนี้ก็ไม่ต่างจากอนาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการวางระบบเรื่องการเลือกตั้ง มีแต่การะบวนการ “ขันอาสา” (อย่าเอาไปปะปนกับเรื่อง “จิตอาสา” นะครับ เพราะมีความหมายและกระบวนการต่างกัน) คือการเสนอตัวให้ประชาชนเลือก ซึ่งก็ไม่ใช่การเลือกด้วยวิธียกมือหรือหย่อนบัตร เพียงแต่ถ้ามีใครเสนอตัวแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ถือว่าคน ๆ นั้นได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาและฝ่ายปกครองต่อไป
ขณะนี้ในหน้าเพจเหล่านั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าใครจะเป็นผู้ขันอาสามาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง แต่ก็มีผู้ที่ขันอาสาจะ “ล้มล้าง” ระบบการปกครองที่เป็นอยู่ แม้จะไม่มีการนำอย่างออกหน้าออกตาก็ตามที แต่ก็เป็นสัญญาณว่า “ลัทธิกูไม่กลัวมึง(ผู้ปกครองเผด็จการ)” กำลังก่อตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกโซเชี่ยล ซึ่งไม่จำเป็นที่จะปรากฏออกมาให้เห็นในภายนอกหรือแสดงออกตามท้องถนน เพราะในโลกโซเชี่ยลนั้นได้ปลุกกระแสในความเกลียดชังผู้มีอำนาจรัฐได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก ที่รอวันให้มหาชนเหล่านั้น “คลิก” บนหน้าจออินเตอร์เน็ตและมือถือ ก็อาจจะล้มระบบการปกครองแบบที่เป็นอยู่นี้ได้
คอยแต่ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ขอท่านนักการเมืองที่ “ระเริงชน” กันอยู่ขณะนี้โปรดเตรียมตัวไว้