วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์กลับมาเป็นกระแสสังคมอีกครั้ง จากศึกอภิปรายทั่วไปเพื่อชักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่เริ่มจากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบอภิปรายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถึงการบริหารประเทศล้มเหลวที่ “แพงจนพังทั้งแผ่นดิน”
โดยนายกรัฐมนตรีเปรียบบทบาทของฝ่ายค้านเหมือนกับการเล่นละครที่ให้ย้อนดูตัวเอง โดยหยิบบกเอาบทสนทนาที่นพ.ชลน่านเคยกล่าวกับพล.อ.ประยุทธ์ถึงท่าทีในการทำหน้าที่ในการประชุมสภา คือการสวมหัวโขน เมื่อทำหน้าที่อะไรก็ต้องทำให้สมบทบาท ฝ่ายค้านเปรียบเป็นทศกัณฑ์ ฝ่ายรัฐบาล เปรียบเป็นพระราม
กระนั้น ทางข่าวก็ลื่นไหลไปเมื่อ ผู้สื่อข่าวไปถามบุคคลสำคัญทางการเมืองว่าเปรียบเป็นตัวละครใดในรามเกียรติ์ เมื่อไปถามนายอุนทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกว่าเขาเป็น “สีดา” ซึ่งเมื่อดูบริบทการเมืองแล้ว บทบาทนางสีดาอาจจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่พรรคภูมิใจไทยเป็นที่ต้องการเสียงสนับสนุนรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าพรรคภูมิใจไทยเองก็ยังเป็นที่ต้องการของพรรคเพื่อไทย ในการเป็นพันธมิตรหลังการเลือกตั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานก่อนหน้านี้ว่า นายอนุทินได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาสภาล่ม โดยยืนยันว่ามีเสียงของส.ส. 260 เสียงที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
จึงได้เห็นการส่งสัญญาณที่สร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้น จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาพูดถึงปฏิบัติการไฮแจ็กตำแหน่งผู้นำ
ท่ามกลางหมากกลการเมืองที่หลายฝ่ายพยายามที่จะส่งสัญญาณไม่ให้ไว้วางใจพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาประกาศจุดยืนว่า “ตนขอประกาศจุดยืนในนามตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ไม่เห็นชอบกับกฎหมายปลูกกัญชา เพื่อการแพทย์ หรือไม่มีการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ทำให้การขับเคลื่อนไม่เดินหน้า ขอประกาศจุดยืนว่า พรรคภูมิใจไทย รวมถึงตน จะขอถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลทันที เพราะถือว่าไม่เห็นประโยชน์ของประชาชน”
หากจะมองว่าเป็นการส่งสัญญาณกดดันรัฐบาล หรือใครอานจะตื่นเต้นว่า นี่อย่างไรล่ะ เห็นหรือไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยนั้นได้แสดงอิทธิฤทธิ์กดดันรัฐบาลเสียแล้ว ก็อาจจะอ่านการเมืองเพียงชั้นเดียว
เพราะโอกาสในการถอนตัวนั้น มีน้อยมากแทบเป็นไปไม่ได้เลย อีกทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ไม่น่าจะเป็นปัญหาในการผ่านการพิจารณาของสภาฯ อยู่แล้ว และกระแสของพี่น้องประชาชนก็ไม่เอื้อให้รัฐบาลต้องขวางกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ห้วงระยะเวลาที่อาจจะถูกกดดันให้เหลือน้อยลงของรัฐบาล อาจทำให้พรรคภูมิใจไทยต้องเร่งสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นเพียงเท่านั้น