การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เสร็จสิ้นลงไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยก่อนหน้านี้ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปรียบการอภิปรายครั้งทีผ่านมานี้ว่า
“เหมือนเราซ้อมแย็บไว้ก่อนจะต่อยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ม.151”
นั่นหมายความว่าจะ “ต่อยจริง” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 ที่จะมีการลงมติ
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ จะเป็นการบรรจุระเบียบวาระเรื่อง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตา เพราะถือเป็นจุดไคลแม็กซ์ของการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน และการเมืองในอนาคต แม้จะคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ว่า ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะไม่เสร็จในสมัยประชุมนี้ และอาจต้องไปต่อกันในสมัยหน้า
ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่แหลมคมและชิงไหวชิงพริบกันทุกนาที ก็มีการจับตาว่ากฎหมายลูกนี้จะเป็นตัวแปร หรือปัจจัยสำคัญที่จะมีต่อการตัดสินใจ ยุบสภา ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภา
น่าสังเกตศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ยุบสภา…เมื่อไรดี"พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.09 ระบุว่า นายกฯ ไม่มีแผนจะยุบสภา แต่วางแผนจะอยู่ยาวจนครบวาระในปี 2566 รองลงมา ร้อยละ 8.91 ระบุว่า ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ร้อยละ 8.23 ระบุว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 6.09 ระบุว่า หลังจากกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 ร้อยละ 4.95 ระบุว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ผ่านความเห็นชอบจากสภาประมาณเดือนสิงหาคม 2565 และร้อยละ 3.73 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ต่อข้อถามที่ว่า ช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี ควรยุบสภา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.79 ระบุว่า นายกฯ ควรยุบสภาโดยเร็วที่สุด รองลงมา ร้อยละ 23.38 ระบุว่า นายกฯ ไม่ควรยุบสภาและให้อยู่ยาวจนครบวาระในปี 2566 ร้อยละ 5.18 ระบุว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 4.19 ระบุว่า ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณอยู่บริหารประเทศไปจนถึงช่วงปลายปี หรือครบเทอม ซึ่งนั่นก็ทำให้บรรดาพรรคการเมืองในซีกพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องเร่งเครื่องกดดัน โดยเฉพาะพรรคการเมืองพรรคใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวลงสนามการเมือง เงื่อนเวลายุบสภามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง หากยืดระยะเวลาออกไป พรรคที่มีสายป่วนไม่ยาวจะต้องใช้ทุนในการดูแลและบริหารจัดการต่างๆ ไปอีกเป็นจำนวนมากกว่าจะได้สู้ศึกเลือกตั้ง หากกระแสไม่ดี เรียกความสนใจจากกลุ่มทุนที่สนับสนุนไม่ได้ อาจลำบาก