ทวี สุรฤทธิกุล
สมัยหนึ่งบางสิ่งก็มีความจำเป็น พอถึงอีกสมัยหนึ่งก็อาจจะหมดสิ้นความหมาย
ระบบรัฐสภาเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้นแล้ว เท่าที่มีบันทึกไว้ในทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการมีอยู่ของระบบรัฐสภา ในโลกตะวันตกก็คือระบบของกรีก อย่างคำว่า Senator ที่ไทยเราเอามาใช้เรียกวุฒิสภา ที่มาจากคำว่า Senate ซึ่งในยุคกรีกนั้นหมายถึงรัฐสภาของผู้มีฐานะสูงทางสังคม ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปพูดถึงปัญหาของชาวกรีก ต่อมาก็ในสมัยโรมันก็มีสภาที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ของโรม แม้กระทั่งมีหน้าที่ประกาศสงคราม
ส่วนในโลกตะวันออก ในสมัยพุทธกาลก็มีการปกครองแบบรัฐสภาด้วยแล้ว เช่น กษัตริย์ลิจฉวี ก็คือกลุ่มของผู้ปกครองจากหลาย ๆ แว่นแคว้วนมาประชุมร่วมกัน รวมถึงกษัตริย์ศากยะ ที่เป็นสกุลของพระพุทธเจ้าก็ใช้ระบบรัฐสภานั้นปกครองบ้านเมือง โดยพระบิดาของพระพุทธเจ้าคือพระเจ้าสุทโธนะนั้น ก็มีฐานะเป็นราชาพระองค์หนึ่ง ในหมู่พระราชาหรือผู้ปกครองจากแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่มาประชุมร่วมกันเป็นเนืองนิตย์ ดังที่มีพุทธวจนะกล่าวว่า “ราชา มุขขัง มนุสสานัง” ที่ราชบัณฑิตท่านแปลว่า “ราชาคือปากเสียง(มุขขัง)ของมวลมนุษย์” ซึ่งก็คือ “ผู้แทนราษฎร” นั่นเอง (คำนี้ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยอธิบายไว้ในหลายโอกาส รวมถึงในคำบรรยายเรื่อง “พระพุทธศาสนา” ที่บรรยายให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง พ.ศ. 2508– 2512 ที่ท่านเป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่นั่น)
ส่วนระบบรัฐสภาสมัยใหม่มีกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1215 ที่บรรดาขุนนางและอัศวินไม่ยอมให้พระเจ้าจอห์นปกครองแบบทรราชย์ จึงบีบให้พระเจ้าจอห์นลงนามทำสัญญากับขุนนาง ที่เรียกว่า Magna Cater แต่แรกอังกฤษก็มีแต่สภาขุนนาง (House of Lords) แต่ต่อมาชาวบ้านก็ขอแต่งตั้งอัศวินของตนเข้าไปทำหน้าที่ร่วมประชุมด้วย จากนั้นก็มีการเลือกสรรส่งตัวแทนโดยตรงของชาวบ้านไปร่วมประชุมแยกตัวออกมาอีกสภาหนึ่ง เรียกว่า “สภาสามัญชน” (House of Commons) พร้อมกับการเกิดขึ้นของระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ผู้แทนจากเขตต่าง ๆ ซึ่งก็คือระบบ “1เขต 1 คน1” (One Man One Vote) ที่มีกำเนิดจากอังกฤษนี้
ประเทศไทยก็เอาแบบอย่างระบบรัฐสภามาจากประเทศอังกฤษ แต่ก็มีการ “บิดเบือน” ไปพอสมควร คือพอเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้มีรัฐบาลและรัฐสภา เริ่มต้นรัฐบาลที่ในอังกฤษเรียกว่าคณะรัฐมนตรี คณะราษฎรก็เรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่ของอังกฤษมี 2 สภา คือสภาขุนนางกับสภาผู้แทนนั้น คณะราษฎรก็ให้มีเพียงสภาเดียว แต่มีสมาชิก 2 ประเภท คือแต่งตั้งพวกหนึ่ง กับเลือกตั้ง(โดยอ้อม)อีกพวกหนึ่ง แต่ที่ไม่เหมือนอังกฤษเลยก็คือ ของไทยโดยคณะราษฎรนั้นไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมือง ด้วยต้องการให้คณะราษฎรเป็นพรรคการเมืองปกครองประเทศเพียงพรรคเดียว
ว่าไปแล้ว ประเทศไทยที่เลียนแบบการปกครองของประเทศอังกฤษมานั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ “เฟค” หรือปลอมมาแต่แรก และก็ยังเฟคหรือปลอมอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ในขณะที่ในยุคคณะราษฎรได้ใช้อำนาจทางการเมืองและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ให้มีพรรคการเมือง แต่พอมามีการบัญญัติให้มีพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ที่ว่ากันว่าเขียนขึ้นเพื่อเอาใจประเทศผู้ชนะสงครามโลก คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็เป็นการตั้งพรรคขึ้นเพื่อ “ยกก้น” เป็นฐานหนุนให้กับผู้มีอำนาจ ไม่ได้เป็นพรรคเพื่อการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อประชาชนแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคทหารครองเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมานั้น เมื่อทหารแสดงท่าอยากเป็นประชาธิปไตย ให้มีการตั้งพรรคการเมืองกันได้ ทหารก็เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองร่วมด้วย และก็ด้วยสปิริตแบบ “บ้าและหวงอำนาจ” ทำให้โกงการเลือกตั้งเพื่อเอาชนะใน พ.ศ. 2500 และทหารก็ทำกับการเมืองไทยในรูปแบบคล้าย ๆ กันนี้มาโดยตลอด
ที่กล้ากล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า แม้แต่ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ทหารตั้งพรรคสหประชาไทยมาหนุนจอมพลถนอมในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน หรือการตั้งพรรคสามัคคีธรรมใน พ.ศ. 2535 ก็เข้าอีหรอบเดิม ที่ใช้อิทธิพลบีบบังคับให้นักการเมืองมารวมกันเป็นพรรคการเมืองเพื่อหนุนกลุ่มนายทหาร จนถึงในยุคนี้การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้มีอะไรที่สร้างสรรค์ ทั้งยังทำลายระบบรัฐสภา ที่ปล่อยให้พรรคการเมืองที่ตัวเองคิดว่าควบคุมได้นั้น สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายมาสู่รัฐสภา โยเชื่อมั่นว่าความปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไม่สามารถจะทำให้รัฐบาลล้มได้ นั่นก็ยิ่งแสดงว่าผู้นำทหารที่ปกครองประเทศไทยอยู่ขณะนี้ ไม่ได้ “ให้ราคา” กับผู้แทนราษฎรที่ประชาเลือกเข้ามาจากทั่วประเทศนั้นเลย
ในช่วงที่มีการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 โดยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้เขียนในฐานะตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญของจังหวัดนนทบุรี ให้เป็นประธานอนุกรรมการด้นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งได้จัดทำออกมาใน 2 รูปแบบ คือ การใช้แบบสอบถาม และการประชุมกลุ่มรับฟังความคิดเห็น ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนทำงานนี้ มีข้อเสนอหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่างที่ได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เช่น ผู้แทนราษฎรต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เป็นต้น แต่ที่ไม่ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คนไม่เห็นด้วยก็มีอยู่มาก อย่างเช่นที่ประชาชนเสนอให้ลงโทษ ส.ส.ที่ทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพให้จงหนักเป็นต้นว่า ถ้าขาดประชุมบ่อย ๆ ก็ให้ไล่ออกและชดใช้เงินเดือนที่รับไป รวมถึงตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงเลือกตั้งตลอดชีวิต
ทุกวันนี้ ผู้คนมีความสนใจการเมืองกันมากขึ้น ยิ่งสื่อสมัยใหม่จำพวกโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็ก้าวหน้ามาก ถึงขนาดอยู่ที่ไหนก็พูดคุยและเห็นหน้าเห็นตากันได้ ทำให้กิจกรรมที่ต้องพบปะกันไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด สมาชิกรัฐสภาทุกวันนี้ก็สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้ทุกคน (อย่าอ้างว่าใช้ไม่ได้ เพราะรัฐให้เงินจ้างผู้ช่วยและผู้เชี่ยวชาญได้ถึง 7 -8 คน ๆ ก็จ้างคนใช้ไอทีเก่ง ๆ มาช่วยงานได้) ดังนั้นการประชุมสภาก็สามารถทำได้ในทุกโอกาสเช่นกัน มิฉะนั้นต่อไปสภานี้ก็ไม่มีความจำเป็น เพราะแม้ไม่มีสมาชิกสภา หลายคนก็เชื่อว่าประเทศนี้ก็ยังสามารถปกครองกันไปได้
จะมี ส.ส.ไปทำไม ถ้ามีเอาไว้เพื่อพยุงทหารบางคนขึ้นลงบันได แต่ไม่กล้าพูดกล้าทำเพื่อประชาชน