ราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อต้นปี ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาล และผลในทางจิตวิทยาที่ประชาชนลดการบริโภคลงเพราะราคาสูง ทำให้ความต้องการหมูในตลาดลดลง ราคาก็ปรับตัวลงตาม ซึ่งในอนาคตราคาก็จะกลับมาเป็นปกติตามกลไกของตลาด อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 100% ลงลิตรละ 3 บาท เหลือ 2.99 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จากปัจจุบันมีอัตราที่ลิตรละ 5.99 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เตรียมจะปรับราคาสินค้าชะลอออกไปก่อนอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้นายดนุชา พิชยานันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นขณะนี้เพราะปัจจัยจากภายนอกที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็ว โดยผลกระทบเกิดขึ้นกับไทยเพราะนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าจึงกระทบต่อราคานำเข้าน้ำมันสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นสิ่งที่แทบทุกประเทศเผชิญ ทั้งนี้ การลดภาษีสรรพสามิตต้องดูผลกระทบระยะต่อไป เพราะรายได้จากภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นรายได้สำคัญที่ภาครัฐจัดเก็บมาใช้จัดสรรเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายสวัสดิการต่างๆ หากลดต่อเนื่องในระยะเวลานานจะกระทบกับรายได้ในส่วนนี้ ขณะที่ ความเห็นของนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มองว่า จากสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้นเวลานี้เชื่อว่ามาตรการที่รัฐบาลออกมาจะลดผลกระทบราคาสินค้าและทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ขยายตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงขึ้นในระยะสั้นได้ โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่ใช้มาตรการใดๆ มาสกัดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อเวลานี้ เพราะหากเป็นเงินเฟ้อชั่วคราวในระยะสั้นไม่เกินช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวผลกระทบที่ได้รับจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะลดลง อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ ยังเห็นว่านอกจากมาตรการทางภาษีเพื่อลดราคาน้ำมันแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเพิ่มวงเงินในกระเป๋าเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง ทั้งนี้ ทั้งนั้น ปัจจัยที่รัฐบาลต้องเตรียมการในการรับมือก็คือ ปัญหาภัยแล้ง ที่ปีนี้คาดว่าจะมาเร็ว ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและอุปโภคของพี่น้องประชาชน การทำการเกษตรแล้ว ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้า โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร