ยังอยู่กับประเด็นของการแก้ไขปัญหาความยากจน ยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19มาแล้ว5 ระลอก ซ้ำเติมปัญหาปากท้องในประเทศไทย ดังที่ได้กล่าวถึงเอาไว้ในฉบับที่แล้ว ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายากจนของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนวัตกรรมในการตั้งทีมพี่เลี้ยง และ เมนูแก้จนเข้ามาแก้ไขปัญหาในเชิงรุก
แม้การประกาศแนวทางดังกล่าว จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการซื้อเวลาเพื่ออยู่บริหารประเทศก็ตาม ด้วยเป็นการประกาศออกมาในห่วงเวลาที่เผชิญวิกฤติการเมืองรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม ใครจะไปใครจะมานั้นจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ หากหน่วยงานต่างๆ พร้อมใจกันเดินตามนโยบายและขับเคลื่อนไปโดยมีประชาชนเป็นหัวใจหลัก
เพราะอดเสียดายไม่ได้ หากแนวทางดังกล่าว จะเป็นเพียงไฟไหม้ฟาง
เพราะหากย้อนไปดูเรื่องนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้รับมอบหมายให้จัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย (เมนูแก้จน) ตามมิติความขัดสน 5 มิติความขัดสน ประกอบด้วย
1.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
2.การศึกษา และทักษะที่จำเป็น
3. สถานะทางสุขภาพ
4.คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่
และ 5.การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม
โดยให้ดำเนินการแก้ไขตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขรายครัวเรือน โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565
ที่สำคัญ คือที่ประชุม ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานลด ละ เลิกการทำงานแบบต่างคนต่างทำ และให้ความสำคัญกับการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมาในหลายเรื่องของประเทศเรา หน่วยงานต่างๆ ต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ แต่หากเรื่องนี้ “ข้าราชการ” จะร่วมกันเดินหน้าผลักดันให้ประสบความสำเร็จ พลิกโฉมประเทศได้อย่างจริงจัง โดยไม่ต้องสนใจว่า การเมืองใครจะมาใครจะไปได้ ก็จะเป็นบุญประเทศ แม้จะเป็นไปได้ยาก และเป็นความหวังลมๆแล้งๆ ก็ตาม แต่ก็ขอกล้าที่ฝันว่า การรุกเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้