สถาพร ศรีสัจจัง
ถึงวันนี้เมื่อเอ่ยนาม “นายผี” ย่อมเป็นที่ประจักษ์แจ่มชัดในหัวใจผู้รักความ “ก้าวหน้า” และ รักความเป็นธรรมในสังคมไทยปัจจุบันแล้วกระมังว่านี่คือนามปากกาของปราชญ์กวีนักปฏิวัติ อดีตอัยการนักต่อสู้คนสำคัญของสังคมไทย ที่แม้บัดนี้ ร่างชีวิตของท่านจะล่วงสู่ปรภพแล้ว แต่งานนิพนธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นกวีนิพนธ์ บทเพลงคีตกานท์ เรื่องสั้น บทความ ความเรียง ตำรา และงานแปล ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงของท่านยังคงอมตะตกทอดเป็นมรดกล้ำค่ายิ่งของแผ่นดินและมวลมหาประชาชนชาวไทย และยิ่งนับวัน ดูเหมือนอัจฉริยภาพทางด้าน “วรรณศิลป์” ของท่านกวีผู้นี้ก็ยิ่งเจิดจ้าทบทวี
ถามว่ามีนักฟังเพลงสักกี่คนที่ไม่เคยผ่านหู หรือไม่เคยรับรู้ ถึงความไพเราะเรียบง่าย ที่ทรงคุณค่า และทรงพลัง ของบทเพลงที่เป็น “คีตกานท์” (lyric)อย่างเพลง “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ”?
เพลงที่ได้รับความนิยมนำไปร้อง “cover” กันโดยหลากฝ่ายหลากประเภท ตั้งแต่ชาวเพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่ง เพลงลูกกรุง เพลงสตริง ทั้งในกลุ่มชนชั้นสูง จนถึงระดับนักเรียนนักศึกษาเยาวชน และในหมู่นักร้องสามัญชนชาวบ้านธรรมดา!
มีใครในวงการคนเขียนบทกวีสักกี่คนที่ไม่รู้จัก ไม่ได้รับแรงดาลใจ และเห็นถึงความอลังการแห่งพลังภาษาของบทกวีอย่าง อีสาน/ความเปลี่ยนแปลง และ เราชนะแล้ว…แม่จ๋า ฯลฯ
วงวรรณกรรมแปลสักกี่รายที่ไม่เคยผ่านตาและเห็นคุณค่าของงานแปลอย่าง “กวีนิพนธ์ เหมา เจ๋อ ตุง” ในเวอร์ชั่นของผู้ใช้นาม “ประไพ วิเศษธานี” ซึ่งก็คือ “นายผี” รวมไปถึงผลงานแปลวรรณกรรมสำคัญๆของชาวชมพูทวีป อย่าง “ภควัทคีตา” และ “จิตตรา” ฯลฯ
ทั้งสิ้นทั้งปวงคือผลงานสร้างสรรค์ของ “นายผี” หรือท่าน “อัศนีย์ พลจันทร์” !
ลองฟังบางท่อนจากบทกวีชื่อ “อีศาน” ที่ “ปราชญ์กวี” และนักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ร่วมสมัยรุ่นน้องอย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ยกย่องนักยกย่องหนาว่า “เป็นบทกวีของประชนที่ที่ยิ่งใหญ่อลังการที่สุด” ในวงสังคมวรรณกรรมไทย โดย “นายผี” ได้รจนาไว้ดังนี้:
“.. ในฟ้าบ่มีน้ำ/ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย/ก็รีบซาบบ่รอซึม
แดดเปรี้ยงปานหัวแตก/แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม
แผ่นอกที่ครางครึม/ขยับแยกอยู่ตาปี
มหาห้วยคือหนองหาน/ลำมูลผ่านเหมือนลำผี
ชุบชีพเช่นลำชี/อันชำแรกบ่รีรอ
แลไปสะดุ้งปราณ/โอ้!อีศานฉนี้หนอ
คิดไปในใจคอ/บ่ใคร่ดีนี้ดั่งฤา?
พี่น้องผู้น่าฮัก/น้ำใจจักไฉนหือ?
ยืนยิ่งบ่ติงตือ/จักใคร่ได้อันใดมา
เขาหาว่าโง่เง่า/แต่เพื่อนเฮานี่แหละหนา
ฮักเจ้า บ่จางฮา!/แลเหตุใดมาดูแคลน
เขาซื่อสิว่าเซ่อ/ผู้ใดเน้อ? นะดีแสน
ฉลาดทันเทียมผู้แทน/ก็เห็นท่าที่กล้าโกง!
กดขี่บีทาเฮา/ใครนะเจ้าจงเปิดโปง
เที่ยววิ่งอยู่โทงโทง/เทียวมาแทะให้ทรมาณ…ฯ
……………………………………………………
ในฟ้าบ่มีน้ำ/ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย/คือเลือดหลั่งลงโลมดิน!
สองมือเฮามีแฮง/เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอีศานสิ้น/อย่าทรุด!สู้-ด้วยสองแขน
พายุยิ่งพัดอื้อ/ราวป่ารื้อราบทั้งแดน
อีศานเนับแสนแสน/สิจะพ่ายผู้ใดหนอ?ฯ
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร"สยามสมัย" ฉบับ 3 เมษายน 2495)
ดูตัวอย่าง “ความเป็นเลิศ” ในฐานะ “นายภาษา” เชิงกวีนิพนธ์กันแล้ว ทีนี้มาดู “นายผี” ในฐานะ “คีตกวี” ผู้สร้างสรรค์บทเพลง “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric) กันบ้าง อย่างที่กล่าวมาแต่ต้น ในแง่นี้ น่าจะไม่มีงานชิ้นใดยิ่งใหญ่เกินเพลง “คิดถึงบ้าน” (ชื่อเดิม) หรือ “เดือนเพ็ญ” (ฟังมาว่า “แอ๊ด คาราบาว” เป็นผู้เปลี่ยนมาเป็นชื่อนี้?) ของท่านอย่างแน่นอนใช่ใหม?ลองดูเนื้อเพลงกันสักหน่อยก่อน :
“๐ เดือนเพ็ญ แสงเย็น เห็นอร่าม/นภาแจ่มนวลดูงาม/เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา/แสงจันทร์นวลชวนใจข้า/คิดถึงถิ่นที่จากมา/คิดถึงบ้านนาบ้านเรือนที่เคยเนา…
๐ เรไร ร้องฟังดังว่า/เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา/ลมเอ๋ยช่วยมากระซิบข้างกาย/ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย/
มิเลือนห่างจากเคลื่อนคลาย/คิดถึงมิวายเมื่อเราจากกัน…
๐ กองไฟ สุมควายตามคอก/คงยังไม่มอดดับดอก/จันทร์เอ๋ยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า/สุม…ไฟให้แรงเข้า/พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว/ให้พี่น้องเรานอนหลับอุ่นสบาย…
๐ ลมเอย ช่วยเป็นสื่อให้/นำรักจากห่วงดวงใจ/ของข้านี้ไปบอกเขาน้ำนา…/ให้เมืองไทยรู้ว่า/ไม่นานลูกที่จากมา…/จะไปซบหน้า…กับอกแม่เอ่ย…
๐ *(ซ้ำตั้งแต่วรรค “กองไฟ สุมควายตามคอก” จนจบที่ “จะไปซบหน้ากับอกแม่เอ่ย…”)
ความดีเด่น ที่มาที่ไป และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องต่างๆของเพลง “คิดถึงบ้าน” นี้ คงต้องล้วงลึกหาข้อมามูลมาอรรถาธิบายกันอีกสักหน่อย ค่าที่ฟังว่า เพลง “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” เพลงนี้ แสนจะไพเราะลึกซึ้ง จนซึมซาบซ่านเข้าสู่หัวใจของนักนิยมเพลงในสังคมไทยอย่างกว้างขวางล้ำลึกเสียนี่กระไร!!!!