ท่ามกลางมรสุมทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนทั่วประเทศ โดยจะรับการดูแลแบบตามติดครัวเรือนและกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ด้วย ทีมพี่เลี้ยง และ เมนูแก้จน ในลักษณะสั่งตัด (Tailor made) ที่สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละคน ไม่ใช่แบบเหมาเข่งเหมือนในอดีตเพื่อตัดวงจรการส่งต่อมรดกความยากจนข้ามรุ่น และความจนต้องหมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด
โดยทีมแก้จน จะเข้าไปช่วยเหลือการทำแผนครัวเรือน - แผนชีวิต อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมได้สั่งการให้ดำเนินการในระดับอำเภอให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากสามารถ อยู่รอด (survival) ได้อย่างเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่ความ พอเพียง (sufficiency) และเป็นการแก้ปัญหาที่ ยั่งยืน (sustainability) ภายในเดือนกันยายนปีนี้
“ความท้าทายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนี้ คือ การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งในอดีตอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของฐานข้อมูลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้การดำเนินการก็ยังไม่สามารถบูรณาการกันได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่เกิด ความพยายามร่วม (Unity of effort) หรือการใช้งบประมาณแบบเบี้ยหัวแตก”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-CircularGreen Economy : BCG Model)เชื่อมั่นว่าการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ภายใน 2 ปี จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้เป็น 2 แสนล้านบาท จากการลงทุนของภาคเอกชน โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าโครงการที่ขอรับการการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 128,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้ได้ 10 ล้านคน
นอกจากนี้ มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก้าวพ้นความยากจน พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 20,000 คน และมีคนจนในมิติเศรษฐกิจ 2,329 คน
ในแง่นโยบาย มีความชัดเจนในหลักการ หากองคาพยพต่างๆ สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย ก็น่าจะได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมไม่มากก็น้อย หากแต่ในการประกาศสงครามกับความยากจน เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ในสถานการณ์ที่คีย์แมนฮาร์ดคอร์ของกลุ่มมวลชนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ได้แต่ภาวนาว่าสงครามแก้จนจะออกผลก่อนเกิดสงครามประชาชน