เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
คุณยายอายุ 70 นั่งขายผักสองสามกำแบกะดินที่ตลาดนัด คุณตาอายุ 80 หาเก็บขวดจากถังขยะไปขายได้วันละ 20-30 บาท บางวันได้ไม่กี่บาท ภาพผู้สูงอายุที่เห็นเป็นประจำ
บั้นปลายชีวิตที่ดิ้นรนให้อยู่รอดไปวันๆ ไม่ใช่ด้วยเบี้ยชราเดือนละ 700-800 บาท แต่อาจจะด้วยความปรานีจากชุมชนที่ทนเห็นความทุกข์ของคนแก่ข้างบ้านที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ลูกหลานที่พวกเขาอุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนจนจบได้ดีมีงานทำก็ไม่ได้เหลียวแล
สังคมที่ไร้หลักประกันมีแต่การสงเคราะห์ ไม่มีการพัฒนา พยายามเปลี่ยนกรมประชาสงเคราะห์ให้เป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชื่อสวยหรู แต่ดูไม่ได้ช่วยอะไร เพราะ “มายด์แซต” ยังเหมือนเดิม คุณภาพของงานไม่ได้เปลี่ยน
สังคมที่ดีมีหลักประกันมั่นคงไม่ใช่สังคมที่สงเคราะห์ด้วยเงินน้อยนิดรายเดือน หรือเงินเยียวยาฉุกเฉินด้วยชื่อที่ฟังดูดี แต่เป็นสังคมที่สร้างระบบ ไม่ใช่ทำแต่โครงการ เพราะ “โครงการทำง่าย มีเงินก็ทำได้ แต่ระบบทำยาก มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้เพราะต้องใช้ปัญญา”
บ้านเมืองนี้จึงเต็มไปด้วยโครงการเมกะโปรเจกต์หมื่นล้านแสนล้าน ที่มักจะยืดเยื้อยาวนานเพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ละเลยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่วันนี้มีกว่า 14 ล้านคน และคงถึง 20 ล้านคน หรือหนึ่งในสามของประชากรไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
สังคมต้องการระบบเศรษฐกิจที่ดี ระบบเหมือนชื่อหนังสือของ อี เอฟ ชูมาเคอร์ “เล็กนั้นงาม ว่าด้วยเศรษฐกิจที่เห็นหัวประชาชน” (Small is Beautiful: Economics as if People Mattered)
สังคมที่ไม่พัฒนามักหลอกตัวเองว่า การสงเคราะห์ คือการพัฒนา การเยียวยาด้วยโครงการพิเศษยามวิกฤติเป็นการแก้ปัญหา เป็นสังคมศรีธนญชัยที่คิดว่าเพียงเปลี่ยนชื่อก็เปลี่ยนสถานภาพ
เหมือนชื่อกระทรวงจาก “สงเคราะห์” เป็น “พัฒนา” หรือชื่อสถานศึกษา ที่เติมคำว่า “เตรียมอุดม” เข้าไปคนก็แห่ส่งลูกหลานไปเรียน หรือเหมือนสถาบันอุดมศึกษาที่คิดว่าถ้าเปลี่ยนาจากวิทยาลัย ไปเป็นสถาบัน มหาวิทยาลัย จะขลังเหมือนคนดูดวงแล้วเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล แล้วคิดว่าจะดีจะรวย เป็นสังคมที่หลอกตัวเอง ที่สร้างมนต์คาถาเยียวยาสงเคราะห์ครอบงำประชาชน
ความจริง สังคมไทยมีระบบดีๆ อยู่บ้าง อย่างระบบสาธารณสุขทั่วไปที่ได้รับความชื่นชมจากนานาชาติ อย่างโครงการเกี่ยวกับโรคเอดส์หลายปีก่อน โครงการเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ยังไม่หยุด แต่ที่โด่งดังก็เห็นจะเป็น “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ทำให้ไม่ต้องขายนาเป็นค่าหมอค่ายา
หรือโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต” หรือ กรอ. ให้สิทธิการเรียนฟรีถ้วนหน้าถึงอุดมศึกษา จบแล้วมีงานทำเสียภาษีค่อยจ่ายคืน โครงการน่าสนใจในยุคทักษิณ แต่รัฐบาลต่อมาได้ยกเลิกมาทำ “กองทุนก็ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ. ที่ปล่อยให้ผู้ใหญ่เด็กมากมายที่อยากเรียนรู้ถูกลืม
แต่ระบบที่สร้างหลักประกันชีวิตด้วย “รายได้พื้นฐาน” (basic income) กลับไม่กล้าแม้แต่จะลงมือทำการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น เพื่อทดลองว่า ถ้าคนไทยทุกคนได้รับเงินเดือนละ 3,000-5,000 บาท หรือมากกว่าตลอดไปจะเกิดอะไรขึ้น
หลายประเทศในทุกทวีปได้ทำการวิจัยและทำลองไปแล้ว บางประเทศกำลังพยายามผลักดันให้เห็นนโยบายระดับชาติ อย่างสเปน อินเดีย เดนมาร์ก หรือฝรั่งเศสเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่พรรคการเมืองใหญ่ชูเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่าจะไม่ได้รับเลือก แต่ก็แสดงว่าได้มีการศึกษาเรื่องนี้และสังคมสนใจ
เช่นเดียวกับเมื่อ 50 ปีก่อน ในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน ที่รัฐสภาสหรัฐฯให้ความเห็นชอบกับโครงการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนอเมริกัน แต่ก็ตกไปในวุฒิสภา
หลักการสำคัญของโครงการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) คือ การสร้างระบบให้ผู้คนมีหลักประกันในชีวิต อย่างที่มีผู้เสนอให้คนอเมริกันวันนี้มีรายได้เงินเดือนจากรัฐคนละ 1,000 เหรียญ แบ่งปันรายได้ที่รัฐเก็บจากประชาชน คืนเป็นสวัสดิการอย่างเท่าเทียม
รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเป็นการให้เงินที่ไม่มีเงื่อนไข ทำให้คนมีอิสระในการดำเนินชีวิตที่เลือกได้มากกว่าวันนี้ ที่คนจำนวนมาก “จำใจ” ทำงานที่ไม่ชอบ ถ้าเลือกได้ก็ไปแล้ว จะช่วยให้แม่ลูกอ่อนไม่ต้องทิ้งลูกให้ใครก็ไม่รู้เลี้ยง เพราะต้องออกไปทำงานหาเงินมาซื้อนมให้ลูก ซื้ออาหารให้ครอบครัว
จะช่วยให้คนที่ต้องอยู่บ้านดูแลพ่อแม่แก่ชรา ไม่ต้องทิ้งท่านเพื่อไปหางานทำ ทั้งๆ ที่การเลี้ยงลูกเล็กๆ ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านก็เป็นงานเพื่อสังคม เพราะพวกเขาก็ได้ทำงานสร้างสังคมมาตลอดชิวิต ที่บั้นปลายควรได้รับการดูแล เพราะ “โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง” (อังคาร กัลยาณพงศ์)
รายได้พื้นฐานจึงไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการพัฒนาบนฐานของความยุติธรรมทางสังคม โครงการที่จะแก้ปัญหความเหลื่อมล้ำและความยากจน จะสร้างระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน คนจะกล้าคิดกล้าทำอะไรใหม่ๆ เกิดนวัตกรรมที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในเรื่อง “สตาร์ตอัพ” ไม่กี่อย่าง แต่จะสร้างวิสาหกิจชุมชนที่คิดและทำอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่นั่งรอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐที่ไม่ได้เห็นความสำคัญอย่างวันนี้
สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าไม่ปลดล็อคแนวคิดเรื่องการสร้างระบบเศรษฐกิจพื้นฐาน โดยการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง ก็คงยากที่จะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่พยายามดิ้น เพราะไม่ได้สร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ ที่มีกลไกเทคโนโลยีดีๆ มากมาย แต่กลับใช้เป็นเพียงเพื่อ “สันทนาการ” จนเกิดโรคติดมือถือทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มากกว่าเพื่อ “รักษาโรคทางเศรษฐกิจสังคม”
ทุกพรรค ทุกรัฐบาลชอบอ้างประชาชน แต่ก็ปากว่าตาขยิบ สืบทอดแนวคิดมาเกียเวลลี ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายไม่ว่าด้วยวิธีใดในการรักษาอำนาจและผลประโยชน์พวกตน แม้แต่ด้วยการโกหกประชาชน