ปฏิบัติการลาประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ อย่างพร้อมเพรียงกันในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
จะมีก็แต่ในอดีตสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย กรณีที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีพร้อมกับรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรม หลังจากที่พรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลลงมติว่าจะงดออกเสียงให้กับรัฐบาลในวันลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการออก สปก.4-01 ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 แต่ นายชวน ได้ชิงออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนั้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าพรรคร่วมรัฐบาลแตกหักกันแล้ว
ในกรณีนี้ เป็นการลาประชุม แต่ยังคงทำงานร่วมกันอยู่ต่อไป ที่ออกจะแปลกไปบ้างสำหรับกลยุทธ์ ที่ยังไม่ถอนตัวออกจากรัฐบาล แต่เป็นการประท้วงรัฐบาลด้วยกันเอง
ซึ่งในที่สุด ทำให้ครม.มีมติให้ไปทบทวนโครงการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและเสนอกลับเข้ามาใหม่
สะท้อนว่ารัฐบาลจะเดินหน้างานต่อไปก็ติดอุปสรรคคนกันเอง อย่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหลังจากการแยกตัวออกไปจากพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นกระดานหก ทำให้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมีมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดหลาง หรือพรรคขนาดเล็ก ที่แม้เพียง 1 เสียงก็มีความหมาย ดังที่วงในพรรคประชาธิปัตย์ เคยวิเคราะห์เอาไว้ในช่วงการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรและสงขลา ซึ่งมีวิวาทะจากการปราศรัยปะทะกันรุนแรงระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ ว่า “หมดเวลาเกรงใจ”
ด้วยพรรคการเมืองอ่านกันออกว่า เดินมาถึงช่วงปลายของรัฐบาล สภาพของรัฐบาลจึงไม่ต่างกับ “เป็ดง่อย” ที่ขับเคลื่อนจากคณะรัฐมนตรี ก็ติดขัด ในสภาฯก็ติดหล่ม เมื่อฝ่ายค้านจ้องเล่นเกมนับองค์ประชุมจนสภาฯล่ม
สถานการณ์วันนี้ของรัฐบาลวันนี้ จึงต้องคอยง้องอนพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมกับนับถอยหลังไปด้วยกัน