แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะพุ่งทะยานขึ้นหลักหมื่นคนต่อวัน หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนทำกิจกรรมได้หลากหลายมากขึ้นในช่วงเทศกาลงานเฉลิมฉลองแล้วประชาชนหย่อนยานมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุข เคยคาดการณ์ไว้ และอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและจำนวนผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง ถ้าเราเป็นเหมือนภาพของทั่วโลก คาดว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันอาจสูงกว่านี้ไปได้อีก 2-4 เท่าหากไม่ป้องกันให้ดี โดยมีช่วงเวลาทีต้องเฝ้าระวัง จับตาดูราวสองสัปดาห์
จากความเห็นข้างต้น หากตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นจริง อาจทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า จะเป็นตัวแปรในการปรับปรุงมาตรการต่างๆให้เข้มข้นขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงานทิศทางของเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565 ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงบ้าง จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ ปัญหาในภาคการผลิต รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ทั่วไปและการกลายพันธุ์ด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2564 ว่ามีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการส่งออก
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2564 นั้นน่าจะฟื้นตัวและโตได้ดีกว่าไตรมาส 3/2564 โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว
อีกด้านหนึ่ง มีผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยและสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่าภาคธุรกิจญี่ปุ่นในไทยยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย และคาดว่า ในช่วงแรกของปี 2565 เศรษฐกิจของไทยจะปรับตัวดีขึ้นมาก และภาครัฐจะสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
รวมทั้ง มีสัญญาณที่ดีด้วยว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ที่บริษัทที่ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 18 แสดงความเห็นว่า โควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัท และอีกร้อยละ 7 ยังมองว่าโควิดส่งผลดีต่อยอดขาย ขณะที่มากกว่าร้อยละ 40 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว และมองว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย จะเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ EU และตะวันออกกลาง ก็เป็นแหล่งส่งออกที่มีความสำคัญมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น
จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย และผลสำรวจการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ทำให้ยังมีความหวังว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้ดีกว่าปี 2564 นับเป็นสัญญาณที่ดี ในการต่อสู้ท่ามกลางสงครามโอไมครอน