รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หัวอกผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานยุคดิจิทัล ครอบครัวละ 1 คนเป็นอย่างน้อย ต่างต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับบุตรหลานจนเรียกได้ว่าชักหน้าไม่ถึงหลังกันอยู่พอควร ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนตั้งแต่ค่าเล่าเรียนไปจนถึงค่าเรียนพิเศษ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกินการอยู่ รวมไปถึงค่าเสื้อผ้า ค่าของเล่น ค่าพี่เลี้ยง/แม่บ้าน พอมาถึงยุคโควิด-19 ระบาดทั้งแผ่นดินผู้ปกครองบางคนก็เผชิญกับการตกงาน รายได้หาย รายได้ลดลง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสวนกระแสกับวิกฤตด้านรายได้ของครอบครัวคือ ค่าใช้จ่ายของบุตรหลานกลับมากขึ้น เพราะผู้ปกครองต้องจ่ายเพิ่มทั้งค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเน็ต ค่าโทรศัพท์ และค่าอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการให้เงินเยียวยากับนักเรียนหัวละ 2,000 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองก็ตามที
ยิ่งไปกว่านั้น การที่บุตรหลานต้องหยุดอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน ๆ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่วิตกกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการในทุกด้านของบุตรหลาน ได้แก่
ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว บุตรหลานกลายเป็นเด็กอ้วน ลงพุง เพราะไม่ค่อยมีกิจกรรมวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอทีวีเป็นส่วนใหญ่เพื่อเรียนออนไลน์ เล่นเกม หรือติดแชต ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น สายตาสั้น ความเครียด ฯลฯ
ด้านสติปัญญา การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลงเพราะการเรียนออนไลนทำให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของ เด็กตกต่ำลง การเรียนออนไลน์ยังไม่สามารถทดแทนการเรียนแบบเผชิญหน้าระหว่างครูกับนักเรียนในชั้นเรียนปกติได้ ฯลฯ
ด้านอารมณ์ เมื่อเด็กอยู่บ้านเป็นหลักทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและเพื่อน ๆ ขาดหายไปทำให้เด็กขาดโอกาสการเรียนรู้ในการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบเมื่ออยู่กับบุคคลภายนอกครอบครัว ฯลฯ
ด้านสังคม เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและการออกจากบ้านไปยังแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สปอร์ตคลับ ฯลฯ กลายเป็นเรื่องยากเพราะการฉีดวัคซีนให้กับเด็กยังมีจำนวนน้อย ส่งผลให้เด็กขาดการเรียนรู้ในการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางหรือไม่เข้าใจกฎกติกาการเข้าสังคม ฯลฯ
ผู้ปกครองในยุคโควิด-19 ต้องพบกับความท้าทายใหม่ ๆ หลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นต่อคุณภาพการศึกษาที่บุตรหลานต้องหันมาเรียนออนไลน์ ในขณะที่โรงเรียน/สถานศึกษาก็เผชิญกับความท้าทายใหม่นี้ร่วมกัน ทั้งครูและโรงเรียนต้องพยายามปิดช่องว่างระหว่างความคาดหวังของผู้ปกครองกับความจริงเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการเรียนการสอนที่ต้องได้ทั้งความรู้และความบันเทิงไปพร้อมกัน การสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ตามลำพัง การสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันในภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างครอบครัวเด็กของนักเรียนที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ไม่เท่ากัน
นอกจากเรื่องการศึกษาของบุตรหลานแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับผู้ปกครองในยุคโควิด-19 ไม่แพ้กันคือ การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีหลากหลายคำถามที่ผุดขึ้นในใจผู้ปกครองทุกคน เช่น ถ้าฉีดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือเสียชีวิตจะทำอย่างไร? ใคร? รับผิดชอบ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะยาวคืออะไร? ข้อมูลการฉีดวัคซีนในเด็กที่น่าเชื่อถือศึกษาได้จากใคร? หรือที่ไหน? คุณภาพวัคซีนดีพอหรือไม่ ฯลฯ
ที่สุดแล้วผู้ปกครองก็หนีไม่พ้นต้องเลือกตัดสินใจว่าจะให้บุตรหลานฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ถ้าตัดสินใจ “ให้” บุตรหลานฉีดก็ช่วยลดความเสี่ยงการติดโควิด-19 เด็กสามารถเดินทางไปโรงเรียนและที่อื่น ๆ แต่ความเสี่ยงคือ ความไม่แน่นอนต่อผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในทางกลับกันถ้าตัดสินใจ “ไม่ให้” ฉีดก็กลัวติดโควิด-19 และยังเป็นอุปสรรคในการมาโรงเรียนหรือไปที่ต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเลือกฉีดหรือไม่ฉีดผู้ปกครองก็ต้องคอยสอนและย้ำบ่อย ๆ ให้บุตรหลานระมัดระวังป้องกันตนเองเสมอ
สัปดาห์นี้ !!! สวนดุสิตโพลจึงสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้ปกครองยุคโควิด-19 เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ความหนักใจในการดูแลบุตรหลาน ความคาดหวังต่อจัดการเรียนการสอน และการฉีดวัคซีน
เพื่อสะท้อนถึงหัวอกคนเป็นผู้ปกครองในยุคโควิด-19 อย่าพลาดครับ ! เพื่อเข้าใจคนเป็น “ผู้ปกครอง”