สัญญาณของการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนเทสต์แอนด์โกรอบใหม่เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในรอบนี้ กำหนดให้มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT_PCR 2 ครั้ง คือวันแรกที่เข้าพักและวันที่ 5 ให้รอผลด้วย เพื่อป้องกันปัญหาตามตัวไม่พบหลังตรวจครั้งแรก โดยขู่จะดำเนินคดีผู้หลบหนี ตามมาตรา51 ข้อหาความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (6) แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ
รัฐบาล โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศผ่านระบบเทสต์ แอนด์ โก ได้อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมรับแนวทางการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้เดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่รัดกุม เพื่อให้ประชาชนในหลายๆ สาขาอาชีพ มีงาน มีรายได้ เพื่อตนเองและครอบครัว แต่ไม่ขัดต่อสถานการณ์การควบคุมโรคโควิด-19 ของทั่วโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ประเมินผลที่จะเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่า ในเดือนกุมภาพันธ์จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 2-3 แสนคน ใกล้เคียงกับเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมีนาคม
การส่งสัญญาณเช่นนี้ ย่อมเป็นผลบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยตัวเลขรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ แนวโน้มกิจกรรมเศรษฐกิจในเดือนมกราคมชะลอลงบ้าง โดยจับตา 3 ปัจจัย คือ เงินเฟ้อ ปัญหาการผลิตและโควิด-19 สายพันธุ์ โอไมครอน
ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565ไม่คึกคัก โดยมีมูลค่าเงินสะพัดที่ 39,627 ล้านบาท ขยายตัวติดลบจากตรุษจีนปีก่อนร้อยละ 11.82 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นมูลค่าเงินสะพัดที่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี
มาจากปัจจัยที่ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าราคาแพง รวมถึงรายได้ที่ลดลง ทำให้จำกัดในเรื่องของการซื้อสินค้าไหว้เจ้า การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ไม่ได้มีผลกับการใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชนมากนัก เนื่องจากประชาชนมีการปรับตัว และรู้จักระมัดระวังในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นแล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของประชาชนมากเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มรู้จักโควิด-19
กระนั้นก็ตาม เรามองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่พอมองเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่จะมาช่วยปั๊มหัวใจเศรษฐกิจไทย จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ท่ามกลางการปรับตัวของธุรกิจ และผู้ประกอบการ รวมทั้งเม็ดเงินต่างๆที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปผ่านมาตรการต่างๆ การปล่อยสินเชื่อ และโครงการเยียวยา