ชัชวาลล์ คงอุดม เรียน คอลัมน์ คุณชัช เตาปูน ตอบจดหมาย หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ติดตามข่าวการจัดสอบครูผู้ช่วยที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาแล้วก็รู้สึกเศร้าใจแทน ยอดคนสมัครสอบครูผู้ช่วยจำนวนปาเข้าไป 130,000 คน แต่รับได้เต็มที่จริงๆเพียง 2,561 อัตราเท่านั้น มันสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจและคนตกงานของบ้านเรายังไงยังงั้นเลย โดยเฉพาะคนที่สอบไม่ได้อีก 130,000 คน เมื่อสอบบรรจุครูผู้ช่วยไม่ได้ปริญญาที่จบมาก็ไม่มีความหมาย ก็คงจะตกงานหรือไม่ก็เตะฝุ่น บ้างก็คงจะกลับไปทำไร่ไถนากับพ่อแม่ปู่ย่าตายายตามประสาคนบ้านนอก บ้างก็หางานอาชีพสุจริตรับจ้างห้างร้านหรือบริษัทเอกชน เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองกันไป แม้เงินเดือนจะไม่ได้สูงก็ตาม หรือไม่ก็คงหันเหไปยึดอาชีพค้าขายตามมีตามเกิดกันไป นี่ก็เป็นบทเรียนสะท้อนอย่างหนึ่งได้อย่างดีว่า สมัยก่อนยุคโลกหรือเศรษฐกิจเฟื่องฟู ดิจิตอลยังไม่เข้ามาทำงานแทนคน มีสถานประกอบการจำนวนมากแห่แหนกันรับคนเข้าทำงาน จ่ายเงินเดือนกันแพงๆ บริษัทห้างร้านส่วนใหญ่จะรับแต่คนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโท ปวช.หรือ ปวส.ก็อาจมีบ้าง แต่ไม่มากเท่าระดับปริญญาตรี ขี้หมูขี้หมาคนตกงานแทบจะหายาก หรือน้อยมาก พอโลกเราเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือเครื่องจักรและดิจิตอลเข้ามาทำงานแทนคน ความจำเป็นของการใช้กำลังคน ก็ลดน้อยลงไปตามสภาพ แทบทุกธุรกิจเริ่มปรับลดต้นทุนของตัวเองลงด้วยการชะลอการรับเพิ่มพนักงานเข้ามาทำงาน หรือถ้ารับก็จะรับแต่เท่าที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น ยิ่งบทบาทของดิจิตอลหรือการทำตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนไทยกันมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนแทบจะเป็นอะไรที่ทำหน้าที่หรือทำงานแทนหรือเหนือยิ่งไปกว่ามนุษย์เราทำได้เสียอีก ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชะตากรรมของความจำเป็นใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ยังใช้มนุษย์ลดน้อยถอยลงไปในพริบตา ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คงจะเป็นสถาบันการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีแนวโน้มความจำเป็นต้องลดสาขาลงหรือลดจำนวนพนักงานทำงานลงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว เพราะในเมื่อต่อไปพี่น้องประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้กับการทำธุรกรรมถอน โอน หรือฝาก หรือทำธุรกรรมอื่นๆได้โดยผ่านกระบวนการมือถือได้หมด ย่อมทำให้อนาคตการเดินทางไปทำธุรกรรมที่แบงก์ก็แทบจะไม่ต้องไปก็ได้ เป็นการประหยัดน้ำมันและปริมาณรถยนต์บนท้องถนนลงไปได้อีกตั้งเยอะทีเดียว แต่ในมุมกลับกัน สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ บัณฑิตที่จบปริญญาตรีออกมาหรือกำลังศึกษาอยู่ปีหนึ่งๆมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ต่อไปจบมาคงจะหางานทำได้แสนยากลำบากขึ้นมาก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยเองเวลานี้ก็ย่ำแย่ไปตามๆกัน มีโอกาสที่บริษัทห้างร้านจะลดคนปลดคนงานมีมากไม่น้อยทีเดียว เพื่อเป็นการลดต้นทุน ดังนั้นอนาคตเด็กที่จบมา หากไม่เก่งจริง หรือมีทักษะพูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วแล้วเห็นทีจะหางานทำได้ยาก ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติทีเดียว ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของโลกเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก จนภาคธุรกิจแทบจะทุกธุรกิจเวลานี้หายใจเข้าหายใจออกก็มีแต่คำว่า ดิจิตอล คิดอยู่ในสมองอยู่ตลอดเวลากับ โมเดลทำธุรกิจดิจิตอลกันเกือบหมด ขณะที่อดเป็นห่วงไม่ได้กับระบบการศึกษาของเด็กไทยเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนไปสอดรับกับเรื่องดิจิตอลกันแต่ประการใด หรือจะมุ่งเน้นจะลดการผลิตบุคลากรทางการศึกษาในสายสามัญหรือปริญญาตรีลง แล้วมุ่งเน้นไปสายวิชาชีพหรือสายอาชีพกันดีหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อดห่วงไม่ได้กับเรื่องนี้จริงๆ กับระบบการศึกษาของเด็กไทยปัจจุบันที่ยังตาม ไม่ทันการแปรเปลี่ยนไปของโลกธุรกิจ โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรสายสามัญน่าเป็นห่วงมากทีเดียว เกรงว่าต่อไปเด็กที่จบปริญญาตรีออกมา โอกาสที่จะมีงานทำเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก หากระบบการศึกษาบ้านเรายังไม่ปรับหรือจูนให้สอดคล้องกับความแปรเปลี่ยนไปของโลกเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ก็คงจะขอฝากข้อคิดและการบ้านให้กับกระทรวงศึกษาฯและกรมแรงงานไว้ในโอกาสนี้ ก่อนที่อนาคตจะสายเกินไปกว่านี้ ด้วยความเคารพอย่างสูง คนไทยห่วงใยชาติ เรียน ผู้ใช้นามแฝง "คนไทยห่วงใยชาติ" ขออนุญาตตอบจดหมายของคุณแทนคุณชัชนะครับ เชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลเกี่ยวกับด้านการศึกษา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทุกภาคส่วนก็คงจะไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาที่คุณพูดมานี้หรอกครับคงกำลังขบคิดกันว่าจะหามาตรการอะไรออกมาเพื่อแก้ไขและรองรับกับปัญหาที่คุณว่ามานี้ก็อาจเป็นได้ครับ ก็คงจะต้องติดตามกันดูต่อไปครับ เอาเป็นว่า ผมนำจดหมายของคุณที่เขียนแสดงความเป็นห่วงและกังวลใจมาลงให้คอลัมน์ตอบจดหมายฉบับนี้ก็แล้วกันนะครับ เผื่อผู้ที่ดูแลและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะได้รับฟังเสียงสะท้อนของคุณอีกทางหนึ่ง เพื่อนำข้อคิดของคุณมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็อาจเป็นได้ครับ ด้วยรักและนับถือ เจริญชัย อุดมพาณิชวงศ์ "เชื่อว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลเกี่ยวกับด้านการศึกษา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทุกภาคส่วนก็คงจะไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาที่คุณพูดมานี้หรอกครับ คงกำลังขบคิดกันว่าจะหามาตรการอะไรออกมาเพื่อแก้ไขและรองรับกับปัญหาที่คุณว่ามานี้ก็อาจเป็นได้ครับ ก็คงจะต้องติดตามกันดูต่อไปครับ"