ณรงค์ ใจหาญ ปัญหาการกำจัดขยะล้นเมือง ถือเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ในขณะเดียวกันการดำเนินกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะก็มีกระบวนการที่ก่อเกิดปัญหามลพิษจากกระบวนการผลิตตามมาเช่นกัน นอกจากนี้ หากการตั้งโรงงานได้ตั้งในบริเวณใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของประชาชนหรือใกล้กับแหล่งผลิตน้ำดื่มหรือน้ำประปา อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำ รวมถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่อยู่ข้างเคียงได้ แนวทางในการตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน จึงเป็นการนำสิ่งที่คนไม่ต้องการแล้วมาใช้ประโยชน์ใหม่ และเป็นการเพิ่มการได้มาซึ่งพลังงานทางเลือกอันเป็นการลดปริมาณขยะและผลิตกระแสไฟฟ้าไปในกระบวนการเดียวกัน ซึ่งในบางประเทศ เช่นสวีเดนได้นำขยะไปทำการผลิตพลังงานไฟฟ้าจนทำให้ขยะหมดไปจากประเทศ และต้องนำเข้าขยะจากประเทศอื่นเพื่อนำไปใช้ในการผลิตแทนถ่านหินนั่นเอง รัฐบาลไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการขจัดขยะและการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะดังกล่าว แต่กฎหมายในปัจจุบันมีข้อจำกัดในการตั้งโรงงานไฟฟ้าจากขยะว่า จะต้องดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงการที่ต้องหลีกเลี่ยงการตั้งโรงงานในเขตที่ผังเมืองกำหนดไว้ไม่ให้เป็นเขตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 แล้ว และมีการสำรวจรวมถึงแผนการสร้างโรงไฟฟ้าที่นำขยะมาใช้ในการผลิตทั่วประเทศ จำนวน53 แห่ง ซึ่งในบางแห่งตั้งอยู่ใกล้ชุมชนจนอาจเป็นการเสี่ยงต่อปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนที่ตั้งของโรงงานขยะอาจอยู่ในบริเวณห้ามก่อสร้างโรงงานตามผังเมืองรวมได้ แผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 มีกรอบแนวคิดในการลดการเกิดขยะมูลฝอยหรือของเสียอันตรายที่แหล่งกำเนิด ส่งเสริมการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายแบบศูนย์รวม ความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ในวันที่ 20 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องการให้มีการผลิตพลังงานทางเลือกมากขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยแผนดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการที่จะทำให้การก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าเกิดปัญหาอุปสรรค จึงกำหนดยกเว้นข้อห้ามตามกฎหมายผังเมืองได้ ซึ่งทำให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะในเขตที่เป็นข้อห้ามตามกฎหมายผังเมืองได้ นอกจากนี้ การจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป ที่เป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนทุกประเภทยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ต้องเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 ข้อ 2 ซึ่งเป็นประเภทกิจการลำดับที่ 18 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ต้องไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 5 พื้นที่ ได้แก่พื้นที่ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และพื้นที่ซึ่งมีระดับสารมลพิษทางอากาศเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ซึ่งหมายความว่า การผลิตไฟฟ้าจากขยะที่มีกำลังเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก่อนขออนุญาต แต่จะต้องไม่ดำเนินการในเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ในห้าพื้นที่ดังกล่าว จากประกาศที่กล่าวมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่า การตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ ได้รับการปลดล็อกข้อจำกัดด้านการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผังเมือง เพื่อให้สามารถจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะตามแผนที่กำหนดได้ จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการหรือนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและชุมชนมีความหวั่นเกรงว่าการสร้างโรงงานดังกล่าวเพื่อผลิตไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษจากกระบวนการผลิตและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพและผลกระทบมลพิษทางน้ำหรืออากาศต่อไปหรือไม่ เพราะไม่มีกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 4/2559 นี้ด้วย เพื่อขอให้มีการทบทวนในเรื่องดังกล่าว เพราะอาจทำให้เกิดปัญหามลพิษตามมาแม้ว่าจะได้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตดังกล่าว แต่รัฐยังต้องลงทุนในการก่อสร้างสูง ซึ่งผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับที่เสียไป อย่างไรก็ดี เป็นที่เห็นได้ว่า ถึงแม้การสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะนั้น จะไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินงานก็ตาม แต่จะต้องดำเนินการตามประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ และตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่องมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ พ.ศ. 2559 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม133 ตอนพิเศษ 210 วันที่ 20 กันยายน 2559 และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์เป็นต้นไป พ.ศ. 2559 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 210 วันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งในCoP ที่กำหนดไว้ในแนบท้ายประกาศทั้งสองฉบับได้กำหนดมาตรการที่ทางโรงงานจะต้องดำเนินการตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ ระหว่างดำเนินการ และการประเมิลผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบทั้งกระบวนการ เพียงแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเพราะในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ต่ำกว่า10 เมกะวัตต์ เป็นการผลิตพลังงานที่มีกำลังไฟฟ้าน้อย จึงมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการน้อยกว่ากรณีโรงงานไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ประกาศทั้งสองฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการศึกษาและตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ อากาศ เสียง กลิ่น ระยะห่างจากที่อยู่อาศัย ต้องไม่น้อยกว่า 300 เมตร ผลกระทบต่อน้ำผิวดินและใต้ดิน ตั้งแต่เริ่มโครงการ การตั้งโรงงาน และการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสัญญาที่ให้อนุญาต รวมถึงแนวทางในการกำกับควบคุมติดตาม ตรวจสอบของทางราชการ ประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากพิจารณาแนวทางปฏิบัติตาม CoP ที่ออกมาแล้ว หากมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบรวมถึงการตรวจสอบของประชาชนมีความเข้มแข็งเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนด การตั้งโรงงานไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะจะก่อให้เกิดผลดีที่ลดปริมาณขยะและได้พลังงานทดแทนกลับคืนมาสู่สังคมไทย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจึงต้องอาศัยความตระหนักจากผู้ประกอบกิจการและการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน-