หลายวันที่ผ่านมา มีประเด็นที่สองขั้วความคิดทางการเมืองต่อสู้กันอย่างหนัก หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม 2565 เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ในรอบ 30 กว่าปี ด้วยต้องการหักล้างกันเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง และวาระซ่อนเร้นอันล้ำลึกที่มากไปกว่าความอิจฉาริษยาดั่งละครน้ำเน่าหลังข่าว หากแต่ยังหวังให้กระทบและเสียดทานไปในจุดที่เหนือกว่านั้น แต่กระนั้น ภาพประวัติศาสตร์ที่ปรากฎชัดไปทั่วโลกนั้น ไม่อาจอำพรางสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากผละจากเรื่องการเมืองที่ฉาบหน้าเอาไว้ และเพ่งมองสาระจากความเคลื่อนไหวสำคัญในครั้งนี้ ก็จะพบว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทยอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงซาอุดีอาระเบียที่หันหน้ามาหาไทย หากแต่โลกตะวันออกและทั่วโลกย่อมปรับโฟกัสมาที่ไทยในคราวเดียวกัน แม้ก่อนหน้านี้อาจจะมีหลายประเทศบ่ายหน้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม แล้วก็ตาม ในจังหวะสถานการณ์โควิดโอไมครอน ที่ระดับความรุนแรงของโรคลดลง เว้นแต่ในกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงจึงจะมีอาการหนัก ทำให้บางประเทศ เช่น อังกฤษและเดนมาร์กเตรียมเปิดประเทศ ไทยเองที่มีการระบาดช่วงพีคตามหลังประเทศในยุโรป ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มในทางเดียวกัน การเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย หลังความสัมพันธ์ที่สำนักข่าวต่างประเทศบางสำนักใช้คำว่า “เย็นชา” ต่อกันมานาน จึงกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยอย่างไม่ต้องเสียงงบประมาณโฆษณา นอกเหนือไปจากผลสำเร็จในการเจรจาเรื่องการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตให้เป็นปกติแล้ว นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยกับซาอุดีอาระเบียยังเริ่มการวางแนวทางความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ในอนาคต ทั้งด้านแรงงาน การค้าและการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านแรงงานนั้นจะทำให้ทั้งแรงงานมีฝีมือและแรงงานกึ่งฝีมือได้กลับไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ ช่วงที่ซาอุดีอาระเบียมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งในอดีตเคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 3 แสนคน สามารถสร้างรายได้ส่งกลับไทยมากกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ที่ต้องเตือนกันล่วงหน้า คือขบวนการหลอกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ต้องฝากให้กระทรวงแรงงาน วางมาตรการรองรับไว้แต่เนิ่นๆ ไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสซ้ำเติมแรงงานไทย จากโอกาสทองที่กำลังมาถึง