ก้าวเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ที่จะมีเทศกาลวันวาเลนไทน์ ที่คนส่วนใหญ่แสดงความรักต่อกัน แต่บรรยากาศการเมืองไทยดูเหมือนจะสวนทาง ด้วยความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ ที่สุดฝีแตกออกมาด้วย กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพร้อมส.ส.อีก 20 คน แยกตัวไปอยู่พรรคใหม่ ภายใต้นวัตกรรมทางการเมือง คือ การขับออกจากพรรค ที่ยังเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ กระทั่งอาจนำไปสู่การยุบพรรค อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกในพรรคแกนนำรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพนั้น ต้องมีพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่เกินกว่าครึ่งสภาฯ เช่นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่รัฐบาลปัจจุบันมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น พรรคที่เป็นแกนนำควรเป็นพรรคใหญ่ที่มีเสียง ส.ส.จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีเสถียรภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งพรรคใหญ่มีการแตกตัวของ ส.ส. ดังที่เป็นอยู่ ยิ่งทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าถามว่ายังเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้หรือไม่ ต้องตอบว่ายังเดินไปต่อได้เพราะเสียงเกินครึ่งแต่เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้มีการต่อรองทางการเมืองกันสูงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีเสียงสนับสนุนเฉียดฉิว รัฐบาลจะทำงานยาก เมื่อมีเรื่องหรือมีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องผ่านหรือไม่ผ่านสภา ก็จะทำให้มีการเจรจาต่อรองเรียกร้องสูง และหากเดินต่อไปไม่ได้ก็จะมีโอกาสที่จะยุบสภา หรือนายกฯลาออก หรือดึงพรรคอื่นเข้ามาเพิ่มเสียงสนับสนุนรัฐบาล หากดูปฏิทินการเมืองที่สำคัญ ในเดือนพฤษภาคมที่จะมีการเปิดสมัยประชุมสภาฯจะเป็นโอกาสให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ภายใต้สถานการณ์ที่เสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเช่นนี้ ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องเสียงสนับสนุนที่จะโหวตไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ด้วยในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สอบผ่านด้วยคะแนนรองบ๊วยใน 6 รัฐมนตรี ด้วยคะแนนไว้วางใจ 264 เสียง นั่นจึงทำให้เดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นอีกเดือนที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่สำคัญ ถือเป็นโค้งอันตรายและบททดสอบอันตรายของพล.อ.ประยุทธ์