เสือตัวที่ 6 รัสเซียได้ส่งกำลังทหารพร้อมยุทโธปกรณ์เต็มอัตราศึก เข้าไปในประเทศเบลารุสเพื่อร่วมซ้อมรบ ทหารหน่วยนี้อาจอยู่ในเบลารุสและเสริมกำลังในการบุกเข้ายูเครนก็ได้ และล่าสุดได้ส่งกองทัพมากกว่า 1 แสนนายประชิดตามแนวชายแดนยูเครนอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งในแนวคิดทางทหารเห็นว่า การดำเนินการระดมกำลังทหารกว่า 1 แสนนายเข้าประชิดตามแนวชายแดนนั้น อาจเป็นการแสดงเจนารมณ์ให้เห็นว่า รัสเซียเอาจริงต่อการเปิดศึกครั้งนี้อย่างชัดเจน หากยูเครนและพันธมิตร ยังปฏิบัติการท้าทายอำนาจทางทหารของรัสเซียอยู่เช่นนี้ และนักวิเคราะห์ทางทหารทั่วโลก ต่างให้ความสนใจในสถานการณ์อันตึงเครียดครั้งนี้ ที่ยูเครนเองต่างก็รับรู้ดีว่า กำลังเข้าเป็นพันธมิตรองค์กรความร่วมมือทางทหารในยุโรป (NATO) ที่มีสหรัฐอมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งนั่นย่อมเป็นสัญญาณอันตรายยิ่งที่ชาติมหาอำนาจทางทหารของโลกกำลังเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียด ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่ชาติที่กำลังเผชิญหน้ากันนี้ ต่างฝ่ายต่างก็มีอาวุธร้ายแรงที่สุดอย่างนิวเคลียร์ ทั้งต่างฝ่ายต่างมีพันธมิตรมากมายในแต่ละฝ่าย นั่นหมายความว่าถ้าลุกลามกันไปใหญ่โต ความรุนแรงแห่งสงครามครั้งนี้ จะไม่ได้เกิดเฉพาะในภาคพื้นยุโรปเท่านั้น สถานการณ์ปัจจุบันตึงเครียดเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนทำให้ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน ได้เดินทางไปยุโรปเพื่อประเมินสถานการณ์โดยไปพบกับผู้นำยูเครนประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี จากนั้นได้เดินทางไปพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน เพื่อปรึกษาหารือและกำหนดมาตรการในการเผชิญวิกฤตครั้งนี้ร่วมกันกรณีการแสดงท่าทีคุกคามยูเครนของรัสเซีย ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างก็มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยประเมินว่ารัสเซียอาจจะเริ่มการรุกโจมตีเข้ายูเครนเมื่อใดและบริเวณใดก็ได้ ซึ่งนับเป็นสภาวะที่อันตรายต่อทุกประเทศของโลกใบนี้อย่างยิ่ง จากที่ได้ประเมินการชุมนุมของทหารรัสเซียจำนวนมากกว่า 1 แสนคนบนชายแดนกับยูเครน สถานการณ์นี้ ทำให้ผู้นำยูเครน เรียกร้องให้รัฐบาลกลุ่มประเทศตะวันตก ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างจริงจังในทันที ขณะที่รัสเซียก็ได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องว่านาโตจะต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) เพราะรัสเซียเห็นว่านั่นจะเป็นการรุกคืบของนาโตเข้าประชิดชายแดนรัสเซียซึ่งเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงทางทหารของรัสเซียโดยตรง เมื่อรัสเซียประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายรัสเซียก็มองว่าถ้าหากยูเครนและโปแลนด์อยู่ภายใต้วงจรของโลกตะวันตก ก็จะเป็นภัยอย่างมหาศาลต่อรัสเซีย เพราะสามารถนำขีปนาวุธของฝ่ายตรงข้ามรัสเซีย เข้าไปติดตั้งประชิดชายแดนรัสเซียได้ ทั้งรัสเซียยังต้องการให้กลุ่มประเทศ NATO จำกัดหรือลดกิจกรรมต่างๆ ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอย่างเช่นโปแลนด์ลงอย่างสิ้นเชิง ความตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ โดยเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.65 อังกฤษได้ส่งจรวดต่อสู้รถถังเข้าไปเสริมกำลังในยูเครนและได้ส่งทหารเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและอบรมให้กับกองทัพยูเครน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้ส่งทหารเข้าไปอยู่ในยูเครนส่วนหนึ่งแล้วในฐานะที่ปรึกษาทางทหารให้กับกองทัพยูเครน ถ้าวิกฤตอันเปราะบางครั้งนี้ เกิดอุบัติเหตุจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กดปุ่มเปิดศึก เชื่อว่าน่าจะลุลามเป็นสงครามโลกครั้งต่อไป ด้วยศักยภาพที่มากขึ้นเป็นทวีคูณจากทั้งสองฝ่ายนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งล่าสุด ซึ่งย่อมวินาศกันเป็นวงกว้างหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยับยั้งในการใช้อาวุธโดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายถึงจุดจบของคนเกือบทั้งโลก แม้ว่าทั้ง 5 ชาติมหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ของโลกในขณะนี้ได้มีข้อตกลงว่า ถ้ามีกรณีพิพาทจนถึงขั้นใช้อาวุธ ก็จะไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่กระนั้นก็ไม่มีใครรับประกันได้ หากเกิดเข้าตาจนจริงๆ สถานการณ์ก็อาจจะพาไปก็เป็นได้ เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อผู้นำรัสเซีย ในปี 2014 ที่นายปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ส่งกองทัพเข้าไปผนวกพื้นที่แหลมไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน และทำได้สำเร็จโดยที่ยูเครนไม่สามารถต่อต้านได้ แม้ประธานาธิบดีปูติน เคยกล่าวว่าไม่มีแผนจะบุกเข้ายูเครนก็ตาม จนทุกวันนี้แหลมไครเมียก็ตกเป็นของรัสเซียโดยสมบูรณ์ แม้ครั้งนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวเชิงข่มขู่ว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างจริงจังและรุนแรงหากรัสเซียส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน หากแต่ว่าหาได้ทำให้ผู้นำรัสเซียสะทกสะท้านไม่ เพราะเขาเคยได้รับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ มานับไม่ถ้วนแต่ก็ยังดำรงสถานนของประเทศรัสเซียอยู่ได้ โดยยังสามารถอยู่รอดมาได้แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งยังได้เสริมแสนยานุภาพของกองทัพจนน่าเกรงขาม โดยเฉพาะการพัฒนาอาวุธจรวดไฮเปอร์โซนิกที่ล้ำหน้าฝ่ายโลกตะวันตก อันเป็นการท้าทายแสนยานุภาพของสหรัฐฯ อีกด้วย ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และห้วงเวลานี้สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดคือการที่รัสเซียได้เสริมกำลังพลบริเวณชายแดนยูเครน ซึ่งหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกเชื่อว่าอาจมีทหารมากกว่า 100,000 นาย แม้ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าจะเกิดภัยคุกคามอย่างที่กังวล หรือไม่มีสัญญาณชัดๆ จากประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซียที่บ่งบอกถึงการตัดสินใจที่จะส่งทหารบุกยูเครน และโฆษกรัฐบาลทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่าตื่นตระหนก หากแต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่า ความตึงเครียดอาจนำไปสู่สถานการณ์แบบเดียวกับวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งครั้งนั้น เกือบเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ และแน่นอนว่า แม้เวลานี้จะยังไม่เกิดสงครามขึ้นจริงๆ หากแต่ก็สั่นคลอนความมั่นคงของทุกประเทศในโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมัน ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างตระหนักถึงวิกฤติการณ์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ อีกทั้งวิกฤติการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยมีจีนเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ รวมทั้งวิกฤติในเกาะไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ตลอดจนอิหร่านคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ย่อมส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลกที่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 คำถามจึงอยู่ที่ว่า รัฐไทยมีความตระหนักและเตรียมพร้อมที่จะรับมือวิกฤติโลกครั้งนี้แล้วหรือไม่ อย่างไร