วันตรุษจีน ถือเป็นวันสำคัญของชาวจีน และคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย ขณะที่คนไทยแท้ส่วนใหญ่ก็มักจะมีส่วนร่วมในเทศกาลต่างๆ เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิต แต่น้อยคนนักที่ล่วงรู้ประวัติความเป็นมาหรือตำนาน ว่าทำไมวันตรุษจีนจึงต้องสวมเสื้อผ้าสีแดง และจุดประทัด เรื่องนี้ “โชติช่วง นาดอน” เขียนไว้ในคอลัมน์บรรณาลัย เรื่อง “เทศกาลปีใหม่ (ตรุษจีน)” (5 มกราคม2562) ถึงที่มาในเรื่องดังกล่าวไว้ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้งดังนี้ “ ตรุษปีใหม่เป็นวันเทศกาลที่สำคัญ มีการเฉลิมฉลองใหญ่โตที่สุดของชาวจีน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กั้วเหนียน” 过年 ตำนานเล่าว่า มีสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า “เหนียน” 年 ผู้คนล้วนเกรงกลัวตัวเหนียน ถ้าตัวเหนียนเข้ามาในหมู่บ้าน มันก็จะกินคน คนที่ไม่ถูกตัวเหนียนจับกิน เมื่อพบกันก็จะดีใจ อวยพรให้แก่กันและกัน ผู้คนสังเกตจนรู้ว่า ตัวเหนียนจะออกมาในวันสิ้นปีของทุกปี และจะมาตอนกลางคืน พอสว่างมันก็กลับเข้าป่าไป ดังนั้นในคืนวันสิ้นปี ผู้คนจะปิดบ้านแน่นหนา รวมกันกินข้าวอยู่ภายในบ้าน ทุกคนกลัวจะถูกตัวเหนียนจับกิน จึงจัดอาหารกินกันในคืนนั้นอย่างเต็มที่ และทุกคนในครอบครัวมานั่งร่วมกัน แสดงความพร้อมเพรียงก่อนกินอาหาร ก็จะเซ่นไหว้บรรพชน อ้อนวอนขอให้ทุกคนปลอดภัย ในคืนนั้นไม่มีใครกล้านอนหลับ เพราะกลัวตัวเหนียนจับกิน จึงเกิดเป็นคติความเชื่อ ให้อยู่โต้รุ่งในคืนวันสิ้นปีเก่า มีอยู่ปีหนึ่ง ตัวเหนียนกินคนไปเกือบหมดหมู่บ้าน เหลือรอดแต่คนบ้านเดียวกับเด็กๆ กลุ่มหนึ่ง คนในบ้านที่รอดพ้น เป็นหนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานกันในวันนั้น ตัวเหนียนเห็นบ่าวสาวสวมสื้อผ้าสีแดง ก็เลยวิ่งหนีไป ส่วนเด็กๆ บางคน กำลังเผากระบอกไม้ไผ่เล่นกัน ตัวเหนียนได้ยินเสียงกระบอกไผ่แตก โพล่ะ พล่ะ ตัวเหนียนตกใจวิ่งหนีไปผู้คนจึงรู้ว่า ตัวเหนียนกลัวสีแดงและเสียงดัง ดังนั้นในคืนวันสิ้นปี ผู้คนก็จะติดกระดาษสีแดงที่หน้าต่างบ้าน สวมเสื้อผ้าสีแดง แขวนโคมแดง และจุดประทัดกัน นับแต่นั้นมาตัวเหนียนก็ไม่กล้าออกมาอีกเลย นี่คือที่มาของเทศกาลปีใหม่ (ชุนเจี๋ย 春节)วันชุนเจี๋ย (ตรุษจีน) เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน วันตรุษจีนในแต่ละปีตามปฏิทินสากลจึงไม่ตรงกัน โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์”