เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
รัฐทุ่มเทการแก้ปัญหาโควิดระบาด จัดหาวัคซีน จัดรายการลดแลกแจกแถม แต่ก็เหมือนหยอดน้ำข้าวคนไข้โคม่า สังคมไทยอยู่ในสภาพนี้ คนจำนวนมากเป็นทุกข์ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการใส่ใจในการแก้ไขปัญหา จึงมีคนเครียด บ้า ฆ่าตัวตายไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ตายทั้งเป็น
ที่เป็นข่าวฆ่าตัวตายสองปีนี้มีอยู่เรื่อยๆ แต่ที่ไม่เป็นข่าวมีมากกว่า และที่เครียดจนเรียกว่าป่วยทางจิตคงมีมากกว่า 3 ล้านคนอันเป็นตัวเลขที่ผู้เกี่ยวข้องมักแจ้ง ที่ไม่ได้แจ้งและไม่ได้รับการเยียวยาคงมากกว่าหลายเท่า
โควิดมาซ้ำเติม เพิ่มจำนวนคนป่วย คนทุกข์ คนเครียด แต่ก็ไม่เห็นรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ ได้แต่ทุ่มเททุกอย่างกับการแก้ปัญหาโรคระบาด ไม่มีการนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์และหาวิธีการแก้ไข อย่างน้อยมีกลไกเพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่ย่ำแย่ ที่ยิ่งเลวร้ายหนักยิ่งขึ้นไปอีกเพราะข้าวยากหมากแพง
โควิดมาขยายความเหลื่อมล้ำให้กว้างออกไป คนจนเพิ่มขึ้น คนป่วยมากขึ้นทั้งทางกายทางจิต คนตกงาน เงินออมหมด ไม่มีแม้แต่เงินซื้อข้าวกิน แม้จะมีรายการแจกเงิน แต่คนจำนวนไม่น้อยก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และที่ได้รับก็ “ไม่พอยาไส้” ไม่มีระบบรองรับ ความเจ็บป่วยครั้งนี้สาหัสนัก ยาแก้ปวด บรรเทาได้ชั่วคราวเท่านั้น
สังคมไทยต้องการ “คนฟัง” มากกว่าคนพูด ต้องการให้รัฐบาลฟัง ให้พรรคการเมืองฟัง นักการเมืองฟัง ให้ข้าราชการฟัง ฟังเสียงของประชาชนมากกว่านี้ พูดให้น้อยลง เทศน์ให้น้อยลง สั่งและสอนให้น้อยลง แล้วจะเข้าใจปัญหาและความทุกข์ของประชาชนมากกว่านี้ และจะตอบสนองและแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้
เมื่อ 30 ปีก่อนตอนที่เกิดรสช. เกิดรัฐบาลที่พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ไปเชิญปราชญ์ชาวบ้านสองท่าน คือ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จากแปดริ้ว กับพ่อบัวศรี ศรีสูง จากมหาสารคาม มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ
บรรดานักวิชาการและเอ็นจีโอต่างก็ทักท้วงแนะนำพ่อบัวศรีว่า อย่าไปเป็นที่ปรึกษาให้เผด็จการ พ่อบัวศรีตอบว่า “ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มา มีรัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือนไหนที่เคยฟังเสียงชาวไร่ชาวนาบ้าง ถ้าหากพวกเขาเชิญผมไปเป็นที่ปรึกษา ผมจะไป อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือ”
พ่อบัวศรีนั่งเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าประชุมครั้งแรกปรากฏว่าป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาล และถึงแก่กรรม 6 เดือนต่อมา และพลเอกสุจินดาก็เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 47 วันอย่างที่ทราบกัน
เล่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร แต่เห็นด้วยกับพ่อบัวศรีว่า ที่ผ่านมามีรัฐบาลไหนที่ฟังเสียงของชาวไร่ชาวนาจริงๆ บ้าง เพราะคงได้ยิน แต่ไม่ฟัง ถ้าฟังจริง คงแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้
และคงจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่ อี เอฟ ชูมาเคอร์ คนเขียน “เล็กนั้นงาม” ตามชื่อเต็มของหนังสือที่ว่า เป็น “เศรษฐกิจที่เห็นหัวประชาชน” (Small is Beautiful: Economics as if People Mattered) คือ เข้าใจคนจน ชาวไร่ชาวนา กรรมกร คนรากหญ้า คนชายขอบ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด ทราบดีว่า การให้การปรึกษา (counseling) นิยมเรียกว่า ให้การปรึกษา มากกว่าให้คำปรึกษา เพราะเป็นกระบวนการไปกลับสองทาง ระหว่างนักจิตวิทยากับคนไข้ โดยหัวใจของกระบวนการอยู่ที่การฟังและการตั้งคำถามที่เหมาะสม ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช่การให้คำปรึกษา คือ ไปสั่งไปสอนคนไข้ให้ทำอย่างโน้น บริโภคอย่างนี้
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้บอกว่า คนไข้มีปัญหาทุกข์ร้อน อยากบอกความในใจ อยากระบายความทุกข์ จึงต้องการคนฟังมากกว่าคนมาสอนเขาทันทีที่เห็นหน้า เหมือนกับรู้แล้วว่าปัญหาเขาคืออะไร แบบที่แพทย์ทั่วไปมักทำกัน บางคนแค่เห็นหน้าคนไข้ไม่ถามสักคำก็เขียนใบสั่งยาแล้ว
การพัฒนาประเทศก็เหมือนกัน มีสูตรสำเร็จของ “คุณพ่อรู้ดี” รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร จัดให้ไปเลย หรือไม่ก็เพราะผลประโยชน์ จึงเห็นถนนคอนกรีตควายเดิน สระน้ำใสให้ควายอาบมากมายในชนบท
เมื่อมีการเสนอการทำ “ประชาพิจัย” ให้ชาวบ้านทำการวิจัยตนเอง เก็บข้อมูลทุกอย่าง นำมาวิเคราะห์ให้เห็นไม่เพียงแต่ปัญหาและความต้องการ แต่เห็นข้อมูลศักยภาพ ทุนต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่วิธีนี้ท้ายที่สุดก็ถูกนำไปใช้เพียงเพื่อหาปัญหาและความต้องการ แล้วก็เขียนของบขอโครงการจากรัฐเหมือนเดิม เพราะวิธีคิดของคนเกี่ยวข้องไม่ได้เปลี่ยน ประชาพิจัยเน้นให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่กลับทำให้อยู่ในระบบอุปถัมภ์
สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟังหมอมากที่สุด ต่อมาฟังพ่อค้านายทุน แต่ฟัง “ชาวบ้าน” น้อยที่สุด จึงปล่อยให้ชาวบ้านลำบากยากแค้น เครียด บ้า ฆ่าตัวตาย เพราะไร้ทางออก ไม่มีคนฟังปัญหาของพวกเขาไม่มีการเก็บข้อมูลความทุกข์ยาก สถานการณ์ ปัญหาชาวบ้านระหว่างโควิดระบาดอย่างละเอียดทุกด้าน ให้เก็บแต่ข้อมูลติดเท่าไร ตายเท่าไร ฉีดเท่าไร วิ่งไล่ตามวัคซีน ตามโควิดที่กลายพันธุ์
พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นความหวังของประชาชนได้ถ้าเป็นตัวแทนปากเสียงของพี่น้องในท้องถิ่นได้จริง พรรคการเมืองของนายมาครง ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อ 5 ปีก่อน เพราะ สร้างเครือข่ายพลเมืองทุกกลุ่มทุกอาชีพ มีตัวแทนของพวกเขาในพรรค เพื่อเป็น “ปากเสียง” ให้ทุกกลุ่มทุกสถานภาพจริงๆ มีการวิเคราะห์ว่า นั่นคือปัจจัยที่ทำให้มาครงชนะเลือกตั้ง
แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ก็อาจเป็นเหมือนประเทศสารขัณฑ์ ที่ประชาชนเป็นเพียงนั่งร้าน สร้างบ้านเสร็จ เลือกตั้งเสร็จก็รื้อออก พรรคนายมาครงก็ถูกกล่าวหาเช่นกัน ก็รอดูว่า เลือกตั้งเมษาฯ นี้จะออกมาอย่างไร
มีพรรคการเมืองไทยที่ได้ถอดบทเรียนจากพรรคนายมาครง คงเดาได้ว่าพรรคใดที่ได้คะแนนมาอย่างน่าประหลาดใจในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ระยะทางกำลังพิสูจน์ม้า
เสียงของประชาชนเป็นสัญญาณแห่งกาลเวลา ถ้ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าฟัง ปัญหาบ้านเมืองก็น่าจะได้รับการแก้ไขเยียวยา การพัฒนาจะเป็นของจริง เพราะคนฟังเป็นคือคนเรียนรู้ ผู้นำที่ฟังเป็น จึงเป็นนักเรียนรู้ ที่ใช้ความรู้ใช้ปัญญานำพาประเทศ ไม่ใช้แต่อำนาจกับเงินขับเคลื่อนบ้านเมืองวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์