เมื่อไทยพบการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ก็ทำให้โอไมครอนไม่กระจอกอีกต่อไป นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 2 รายจากโอไมครอน จะเห็นว่ามีการติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว และปัจจัยสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตคือ สูงอายุ มีโรคประจำตัวดังนั้น ขอให้ทุกครอบครัวระมัดระวัง อย่าใกล้กลุ่มคนเปราะบาง ขอให้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และพากลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ว่าธรรมชาติของคนสูงอายุระดับภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงอยู่แล้ว พร้อมมีแนวคิดปรับร่นระยะเวลาการรับวัคซีนชนิด mRNA ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา จากเดิมการรับเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ต้องห่าง 6 เดือน เหลือแค่ 3 เดือนเท่านั้น เพื่อให้ได้รับวัคซีนเร็วขึ้นเพื่อภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สาม โดยรวมทั้งประเทศตัวเลขอยู่ที่ 14.1% เท่านั้น ถือว่ายังน้อยมาก และเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เพียง 13.8% เท่านั้น ถือว่าน้อย รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค เข็มสาม อยู่ที่ 16.1% ดังนั้นนโยบายการบริหารวัคซีนเข็มกระตุ้นของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเดือนม.ค.65 นี้เป็นต้นไป พร้อมกับขอให้ทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วให้มารับเข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม หรือผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวบางคนที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มหนึ่ง ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยด่วน เพราะอย่างที่เห็นแล้วว่าหลายคนชะล่าใจว่าโอมิครอนไม่รุนแรง แต่เมื่อไปติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยเปราะบางอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การบริหารที่สร้างความสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ กับมาตรการทางด้านสาธารณสุข จึงต้องระมัดระวังในทุกขั้นตอน เนื่องจากการผ่อนคลายในบางกิจกรรมยังคงเป็นความเสี่ยง แม้รัฐบาลจะรู้ดีว่า ปัญหาปากท้องนั้น เป็นปัญหาที่เป็นหมัดน็อกของรัฐบาลในหลายรัฐบาลในอดีต แม้แต่รัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การปรับมาตรการต่างๆ จึงอยู่บนความสุ่มเสี่ยง แต่ถึงกระนั้น ก็หวังว่าโอไมครอนจะมาเร็วไปเร็ว โดยไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแทรกซ้อน