ทวี สุรฤทธิกุล
พรรคการเมืองไทยเกิดและอยู่ได้ด้วยเงิน เติบโตด้วยเงิน และก็พังด้วยเงินในที่สุด
ไม่กี่วันมานี้ มีลูกศิษย์ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นโทรศัพท์มาหาผู้เขียน ขอคำปรึกษาว่ามีพรรคการเมืองตั้งใหม่พรรคหนึ่งให้คนมาทาบทาม ขอให้เขาเข้าร่วมทำงานกับพรรค พูดตรง ๆ คือมาขอให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ ในการเลือกตั้งที่อาจจะมาถึงเร็ว ๆ นี้ แต่แทนที่ลูกศิษย์คนนี้จะถามว่า พรรคนี้น่าทำงานด้วยหรือไม่ เป็นพรรคที่มีอนาคตหรือไม่ กลับถามว่าคนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนี้ “เป็นคนยังไง ใจถึงไหม มีสตางค์หรือเปล่า”
ผู้เขียนตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้สนิทสนมกับผู้นำของพรรคการเมืองตั้งใหม่พรรคนั้น จึงได้แต่พูดอ้างอิงไปในทางวิชาการว่า น่าจะดูว่าพรรคการเมืองนั้นจะเติบโตต่อไปและอยู่คงทนได้นานหรือไม่ หรือแค่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ พอเลือกตั้งแล้วก็อาจจะไปหลอมรวมกับพรรคใหญ่พรรคอื่น เพื่อร่วมกันเป็นรัฐบาลต่อไป เพราะพรรคการเมืองในประเทศไทยมีแค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือพรรคที่ได้เป็นรัฐบาล กับพรรคที่อยากเป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตามก็มีประเด็นที่น่าคิดว่า ทำไมคนที่คิดจะเล่นการเมืองจึงคิดอยู่แต่ในเรื่องเงินและคนที่จะมาจ่ายเงินของพรรคนั้นเท่านั้น
เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนย้อนรำลึกไปถึงช่วงที่ผู้เขียนเป็นผู้จัดอบรมในหลักสูตร “เสริมประสบการณ์ทางการเมืองสำหรับประชาชนทั่วไป” ของสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตอนนั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เพิ่งจบลงไปหมาด ๆ กระแสปฏิรูปการเมืองจึงรุนแรงมาก ทำให้มีผู้คนสนใจมาสมัครกันหลายร้อยคน จึงต้องแบ่งออกเป็น 4 รุ่น ๆ ละ 100 กว่าคน ใช้เวลาอบรมรุ่นละ 2 เดือน เนื้อหาหลัก ๆ คือ การทำงานการเมืองเพื่อประชาชน สำหรับคนที่สนใจจะลงสมัครรับเลือกตั้งและทำงานการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา ซึ่งรวมถึงการสร้างพรรคการเมืองและการพัฒนาพรรคการเมืองนั้นด้วย
ในหัวข้อการสร้างและพัฒนาพรรคการเมืองนี้ ผู้เขียนได้เชิญนักการเมืองใหญ่ ๆ มาบรรยาย ที่จำได้ก็มีอยู่ 2 ท่าน คือนายบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีฉายาว่า “ซาร์เศรษฐกิจ” กับนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาที่อายุน้อยที่สุด คือเพียง 39 ปี ผู้มีบทบาททางการเมืองอย่างโลดโผนในช่วงก่อนหน้านั้น นายบุญชูได้บรรยายถึงพรรคการเมืองว่า “เริ่มต้นต้องหานายทุนให้ได้สักคนหนึ่งหรือหลาย ๆ คน แล้วเอาเงินมาลงขันกันตั้งพรรคการเมือง” ส่วนนายอุทัยบรรยายว่า “พรรคการเมืองนั้นก็เหมือนวัด คนจะเข้าแต่วัดที่ใหญ่โตโอ่อ่า วัดรวย ๆ เพราะคิดว่าทำบุญกับวัดรวย ๆ นี้ได้บุญมากกว่า”
นายบุญชูนั้นเคยตั้งพรรคกิจสังคมมากับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอนนั้นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกกันว่าเป็นยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” พอรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ประกาศใช้ในตอนปลายปีนั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นายบุญชูนั้นเป็นนายธนาคารใหญ่ เป็นถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของไทยในยุคนั้น และด้วยความที่อยู่ในธุรกิจธนาคารที่มีข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจใกล้ชิดกับธุรกิจทุกประเภท ทำให้สามารถรวบรวมผู้คนจากวงการธุรกิจเข้ามาได้จำนวนหนึ่ง ขาดแต่ “บารมี” จึงได้มาหาท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ให้รับเป็นหัวพรรคเพื่อเป็นบารมีให้แก่พรรคการเมืองดังกล่าว แล้วก็ได้ตั้งพรรคกิจสังคมขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2517 นั้น
ด้วยบารมีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์และเงินของกลุ่มทุนต่าง ๆ ทำให้พรรคกิจสังคมเป็นที่สนใจของผู้คนทั้งหลาย แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2518 จะได้ ส.ส.มาเพียง 18 คน แต่หัวหน้าพรรคก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่ารัฐบาลนั้นก็อายุสั้นแค่ 10 เดือน ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในตอนต้นปี 2519 ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แพ้การเลือกตั้ง พรรคกิจสังคมได้ ส.ส.เพิ่มเป็น 45 คน แต่ต้องเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งสภาชุดนั้นก็มีอายุสั้นแค่ 7 เดือน ทหารก็เข้ามายึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งถึงต้นปี 2522 ก็มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ครั้งนี้ พรรคกิจสังคมได้ ส.ส. 81 คน แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล จนเมื่อมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในเดือนมีนาคม 2523 พรรคกิจสังคมก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล ซึ่งได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพรรคกิจสังคม ในยุคที่ “ทุนเก่าไป ทุนใหม่มา” หรือยุคสิ้นบารมีของนายบุญชู
ผู้เขียนอนุญาตที่จะไม่บอกชื่อของนักการเมือง “ทุนใหม่” คนนั้นของพรรคกิจสังคม เนื่องจากเรื่องราวบางเรื่องยังไม่ได้สรุปจบ และเสี่ยงต่อการถูกข้อหาหมิ่นประมาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือนักการเมืองคนนี้ได้นำมาสู่พรรคกิจสังคมก็คือ “การเลี้ยงดูรายเดือน” ที่มีการแบ่ง ส.ส.ออกเป็นกลุ่ม ๆ และแบ่งสรรให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูแลค่าใช้จ่ายรายเดือนให้แก่ ส.ส.เหล่านั้น ทำให้เกิด “ก๊กก๊วน” หรือกลุ่มย่อย ๆ ในพรรคกิจสังคมขึ้นหลายกลุ่ม บางกลุ่มที่มีหัวหน้ากลุ่ม “เงินหนา” สักหน่อย ก็มี ส.ส.อยู่ในสังกัดจำนวนมาก แต่บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มของรัฐมนตรีในสายของนายบุญชู อยู่ในลักษณะ “เงินพอได้ แต่ใจไม่ถึง” คือมีเงินแต่จ่ายให้ ส.ส.ไม่มากเท่ากลุ่มทุนใหม่ ทำให้อิทธิพลในพรรคของนายบุญชูก็ลดลงไปอย่างมาก ที่สุดก็ถูกพังทลายไปในกรณี “เทเล็กซ์อัปยศ” ที่รัฐมนตรีในสายของนายบุญชูไปขัดผลประโยชน์ในการสั่งซื่อน้ำมันของรัฐมนตรีของอีกพรรคการเมืองหนึ่ง จนพลเอกเปรมต้องออกมาจัดการ โดยที่กลุ่ม ส.ส.ของนายทุนใหม่ในพรรคกิจสังคมร่วมขับไล่ไสส่ง ดังนั้นภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2524 กลุ่มของนายบุญชูก็พ้นออกไปจากรัฐบาลทุกตำแหน่ง และกลุ่มทุนใหม่นั้นก็ผงาดขึ้นมาครองอำนาจอยู่ในพรรกิจสังคมต่อมาอีก 10 ปี ในยุคสมัยที่รัฐบาลสมัยนั้นได้ชื่อว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” ที่ทำให้ทหารต้องเข้ามายึดอำนาจขับไล่ออกไปในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 พร้อมกันกับการสิ้นอำนาจของนักการเมืองทุนใหม่คนนั้นที่ล่มสลายไปพร้อม ๆ กับพรรคกิจสังคม
ที่พูดเรื่องพรรคกิจสังคมมานั้น ก็เพื่อเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบันนี้ว่า วัฒนธรรมการเลี้ยงดูรายเดือนได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วยังคงอยู่จนถึงบัดนี้ การแตกแยกของพรรคพลังประชารัฐเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นด้วยสาเหตุด้วยเรื่องปัญหาของการดูแลกันแบบนี้ ดังที่มีผู้นำของกลุ่ม ส.ส.ที่ถูก(จัดฉาก)ให้ออกไปได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองและหัวหน้าพรรค “ต้องดูแล ส.ส.อยู่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์”
ใครที่ไม่เข้าใจว่าการเมืองไทยทำไมจึงนับถือ “เงิน” มากขนาดนี้ ก็ขอให้เปิดยูทูปฟังเพลง “อำนาจเงิน” ของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาตินั้นเทอญ