สถาพร ศรีสัจจัง
ว่ากันว่า “อัตลักษณ์” สำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งเป็น “ตัวชี้วัด” ว่าประชาคมหรือชาติพันธุ์หนึ่งๆมีความรุ่งเรืองหรือมีความเป็น “อารยะ” หรือไม่อย่างไร สามารถดูได้ที่ว่าชาตินั้นๆมี “ภาษา” และ “ตัวอักษร” หรืออักษรวิธีเป็นของตัวเองหรือไม่
กล่าวโดยทั่วไปชาติพันธุ์หนึ่งๆมักจะต้องมี “ภาษา” เป็นของตัวเอง ในนิยามความหมายของภาษาที่ว่า “คือเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมายสามารถสื่อสารได้ในกลุ่มชน” เช่นชาติพันธ์ต่างๆที่ร่วมดำรงอยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ที่ชื่อว่า “ประเทศไทย” ล้วนมี “ภาษา” ดั้งเดิมของตน ไม่ว่าจะเป็นชาวไต ชาวปกากะยอ(เราชอบเรียกพวกเขาว่ากะเหรี่ยง) ชาวอาข่า (ที่เรามักเรียก “อีก้อ”) ชาวลาหู่ (เราเรียก “มูเซอ” )ชาวมลายู(เราติดปากเรียกเขาว่า “แขก”) ชาวกูย ชาวโซ่ ชาวเมี่ยน ชาวเซมัง(เงาะป่า) ฯลฯ
แต่ในบรรดา “ชาติพันธุ์” แหรือชนเผ่าที่มี “ภาษา” เป็นของตนเองทั้งหลายในโลก มีน้อยมากที่จะมี “ตัวอักษร” หรือ “ตัวเขียน” และอักขรวิธีเป็นของตัวเอง!ในบรรดากลุ่มชนหรือชาติพันธุ์จำนวนน้อยดังกล่าว มีกลุ่มชาติพันธุ์ “ไต” (Tai) ซึ่งกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของชาติพันธุ์นี้ได้มารวมตัวตั้งหลักปักฐานกันอยู่ในดินดินแผ่นดินใหญ่ของพื้นที่ๆโลกปัจจุบันเรียกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “หรือที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ในอดีต
จับความได้ชัด(เพราะมีหลักฐานเป็น “ลายลักษณ์” หรือตัวหนังสือใน “ศิลาจารึก” นั่นแหละ)มาตั้งแต่ยุค “นครรัฐ” คือตั้งแต่ยุคกรุง “สุโขไทย” เป็นต้นมา แล้วเคลื่อนมาเป็นอยุธยาหรือโยเดีย แล้วเป็น “สยาม” และกลายเป็น “ประเทศไทย” กระทั่งปัจจุบัน เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มี “ตัวหนังสือ” หรือ “ลายสือ” และ “อักขรวิธี” เป็นของตัวเองมาอย่างยาวนานเกือบ 1000 ปี จากหลักฐานที่มักเป็น “ศิลาจารึก” ด้วย “ลายสือไทย” ตั้งยุคสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นสิ่งชี้ชัดว่า การมีตัวอักษรใช้เป็นของตัวเอง ทำให้ประชาคมของคนกลุ่มนี้สามารถสร้าง “ภาษาลายลักษณ์” เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ มากกว่าจะเป็นเพียง “มุขปาฐะ” หรือ “ตำนานเรื่องเล่า” ที่มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ตัว “อักษรไท” ดังกล่าวได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างงาน “ศิลปะ” ที่เรียกกันในภายหลังว่า “งานเขียนเชิงสร้างสรรค์(Creative writing)หรือ “วรรณศิลป์” อันเป็นงานศิลปะสำคัญสาขาหนึ่งใน 3 สาขาหลักของงานศิลปะ[ได้แก่ศิลปะการแสดง(Performance)/ทัศนศิลป์(Visual Art)/และวรรณศิลป์(Literature)
งานสร้างสรรค์วรรณศิลป์ที่ใช้ “อักษรไท” เขียนขึ้นโดยใช้ “หลักภาษาไท” และ “ศิลปะการเขียนแบบไท” (อาจรับอิทธิพลเชิงแบบแผนจากวัฒนธรรมอื่นมาปรับปรนให้เข้ากับลักษณะ “จำเพาะ” ของตัวเอง)มีปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคสุโขไทยจนกระทั่งถึงยุค “ไทยทุนนิยมบริวาร”ในปัจจุบัน
และงานศิลปะที่เรียกว่า “วรรณคดี” “วรรณกรรม” หรือ “งานเขียนเชิงสร้างสรรค์”[มาตรฐานการเขียนถูกแบ่งเป็น 2ประเภทใหญ่ คือ “งานเขียนเชิงวิชาการ(Academic writing)และ” งานเขียนเชิงสร้างสรรค์”(Creative writing)]นี่เอง ที่มีส่วนอย่างสำคัญในการแสดงถึงความมีอัตลักษณ์และความเป็น “ชาติอารยะ” ของประชาชาติไทยให้ปรากฏแก่ชาวโลก
ผู้ที่ศึกษาจนเข้าใจลึกซึ้งถึง “คุณค่า” และความสำคัญของภาษา ย่อมรู้ว่าภาษาไทยมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะที่แตกต่างจากภาษาทั่วไปอย่างไร ประการหนึ่งที่โดดเด่นมากในแง่ความเป็น “ภาษาสร้างสรรค์” ก็คือ ภาษาไทยเป็นภาษาที่นอกจากจะมีเสียงแท้ และเสียงแปรแล้ว ยังเป็นภาษาที่มีเสียงดนตรีด้วย ซึ่งตัวแทนค่าของเสียงดนตรีก็คือ “วรรณยุกต์” นั่นเอง
ซึ่งภาษาใหญ่ๆของโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส บาลี สันสกฤต ฯลฯ ไม่มีเอาเฉพาะภาษาไทยที่เพิ่งเกิดใหม่พร้อมๆการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างที่่เรียกกันว่า “ภาษาไทยมาตรฐาน” ก็สามารถ
ผันเสียงได้ถึง 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา เข้าแล้ว อย่าว่าแต่ภาษาไทยถิ่นต่างๆซึ่งมีมาก่อนเก่า ที่สามารถผันเสียงได้มากกว่านั้น เรื่องนี้มีผลอย่างสำคัญในศักยภาพเรื่องการสร้างคำใหม่และการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเขียนประเภทบทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์และการเขียนเพลง
แม้ “วัฒนธรรมการรู้(ตัว)หนังสือ” ของสังคมไทยจะถูกผูกขาดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงและ “กลุ่มคนพิเศษ” เช่น พระ ขุนนาง และ “ผู้ใฝ่รู้”(ฝากตัวกับวัดเพื่อ “บวชเรียน”)มาอย่างยาวนาน และ “การศึกษาทวยราษฎร์” ที่แท้จริงเพิ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อมีการ “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” แล้ว(พรมแดนคือพ.ศ.2475) แต่วัฒนธรรมการรับรู้และสร้างสรรค์วรรณกรรมในรูปแบบ “มุขปาฐะ” (วรรณกรรมปากเปล่า-Oral literature)ก็มีมาแล้วอย่างต่อเนื่องยาวนาน
“
วัฒธรรมหนังสือ” หรือ “วงวรรณศิลป์” (การสร้างงานศิลปะโดยการนำภาษามาเป็นวัสดุเครื่องมือ)หรือ “วัฒนธรรมการเขียนเชิงสร้างสรรค์” ของเราจึงอยู่ในลักษณะ “กวีฤารู้แล้ง แหล่งสยาม” ตลอดมาแล้ววันนี้เล่าทำไมข่าวคราวเกี่ยวกับวงการวรรณกรรมไทยและพื้นที่สำหรับ “เรื่องแต่ง” ไทย(ทั้งร้อยกรอง-ร้อยแก้ว)ทั้งหลาย(ทั้งนิตยสารและหนังสือเล่ม)ที่เป็น “ตัวสำแดง” อย่างสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาภาษาไทย(ที่ต้องใช้ตัวอักษรและคำ “ไทย”)ให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า อย่างสำแดงความมีอัตลักษณ์ของชาติจึงเมื่อฟังแล้วช่างดูมืดมลและน่ากลัวเสียเหลือเกิน หรือลางล่มลายสือไทได้เดินทางมาถึงแล้ว!!