ทีมข่าวคิดลึก เมื่อเป็นฝ่ายถูกโจมตี และล้อมกรอบไปเสียทุกทาง การตอบโต้จากฟาก"พรรคเพื่อไทย" และ "คนเสื้อแดง" จึงปรากฏขึ้น โดยเฉพาะยิ่งเมื่อดูเหมือน "คดีความ" ทั้งที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญจาก "คดีรับจำนำข้าว" ที่ว่าหนักหนาสาหัสเอาการแล้ว ล่าสุด "40 อดีต ส.ส.เพื่อไทย" ยังเจอ "งานเข้า" เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯกล่าวหา "วรชัย เหมะ" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพวก รวม 40 ราย กรณีร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ... เมื่อปี 2556 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังนั้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา"ประเสริฐ ชัยกิตติ" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งจึงพากันยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีคำสั่งทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ยิ่งเมื่อ "จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาสะท้อนภาพว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างจากการที่พรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เดินเข้าสู่ "ลานประหาร" เพราะ "ผลพวง" ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากกรณีความผิดจะลามไปถึงอดีต ส.ส. ที่ร่วมลงชื่อผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยกันถึง 300 รายในพรรคร่วมรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์ เวลานี้ดูเหมือนว่าความหวั่นไหว วิตกกังวลต่อชะตากรรมทางการเมืองของบรรดาอดีตนักการเมือง โดยเฉพาะที่อยู่ในขั้วอำนาจของ"ทักษิณ ชินวัตร" กำลังปกคลุมและอึมครึมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ "คีย์แมน"ของพรรคหลายคนเพิ่งถูกถอดถอนโดย"สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" อย่าง "บิ๊กโอ๋"พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะที่ "วัฒนา เมืองสุข" ก็ถูกไล่ล่าจากคดีความเรื่องเก่าสมัยที่เคยดำรงตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์"กรณีทุจริตในโครงการบ้านเอื้ออาทร การเดินหน้าของกระบวนการยุติธรรม เพื่อสะสางคดีความต่างๆ ที่มีความต่อเนื่องเช่นนี้กำลังขยับล้อไปพร้อมกับการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้า ราวปลายปี 2560 ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยคล้ายกับว่ากำลังแบกภาระที่หนักหนาสาหัสในคราวเดียวกัน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากฟากพรรคเพื่อไทยยามนี้น่าสนใจว่า นอกเหนือไปจากการปรับแผนการเล่นเพื่อรับมือกับการล้างบางจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่พวกเขาคาดการณ์ และประเมินสถานการณ์กันแล้ว ในจังหวะที่เกิด "จุดอ่อน" จากกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบ "ผ่องพรรณ จันทร์โอชา" ภริยาของ "พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา" ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ใช้ชื่อของตนเองไปเป็นชื่อฝายกั้นน้ำนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการที่สำนักข่าวอิศรา ตามติดประเด็น "ปฐมพล จันทร์โอชา" บุตรชายของ พล.อ.ปรีชา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งได้เข้าไปทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับกองทัพภาคที่ 3 ถึง 2 โครงการนั้นถูกต้องหรือไม่ แน่นอนว่า ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ และความชอบธรรมในการชี้แจงทำความเข้าใจให้ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือแม้แต่ พล.อ.ปรีชา ในฐานะที่เป็น"น้องชายนายกฯ" ที่กำลังรับศึกหนัก แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง อาจจะเหนื่อยหนัก เพราะจะต้องเล่นทั้งเกมรับที่วุ่นวายพัลวัน โดยมีชะตากรรมทางการเมืองเป็นเดิมพัน ยิ่งทำให้ยากต่อการ "เปิดเกมรุก" เป็นอย่างยิ่ง !