เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
บางคนมีทรัพย์แต่อับปัญญา บางคนมีปัญญาแต่อับจนทรัพย์ ทำอย่างไรให้สองคนนี้มีพร้อมทั้งสองอย่าง ให้โอกาสพัฒนาตนเอง พัฒนาการประกอบการ วิสาหกิจชุมชน สตาร์ตอัพ
ทรัพย์รวมถึงเงิน ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน ทรัพยากรอื่นๆ ทุนในท้องถิ่น ที่มีเพียงพอเพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่เพราะขาดการส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านการเรียนรู้และเงินทุน ท้องถิ่นจึงไม่พัฒนา ล้าหลัง ไม่ใช่เพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง แต่เพราะขาดการพัฒนาคนและองค์กรชุมชน เพียงวิสาหกิจชุมชนก็มีกว่า 70,000 กลุ่ม แต่ไม่มีพลังอย่างน่าเสียดาย
เห็นมีพรรคการเมืองบางพรรคสนใจประเด็นนี้ เป็นเรื่องดีที่ควรไปให้สุด ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองแต่ตัวองค์กรชุมชนที่จะเป็นฐานเสียง แต่ให้เป็นฐานเศรษฐกิจ เป็นแกนระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มั่นคง แม้มีปัญหาในเศรษฐกิจใหญ่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากเกินไป
หลายปีก่อน ได้ไปปารีสกับคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ไปร่วมสัมมนาในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้ง Boutique de Gestion (BG) องค์กรสาธารณประโยชน์ส่งเสริมการประกอบการของประชาชน ชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายภาคีเพื่อไปส่งเสริมให้คน “มีทรัพย์แต่อับปัญญา มีปัญญาแต่ขาดปัจจัย” ให้สามารถลงมือสร้าง SMEs
วิธีการส่งเสริม คือ การก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะ (ที่อเมริกาเรียกว่า incubator ที่ฟักไข่) ทั่วประเทศ ที่ดูแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ศูนย์นี้อาจจะตั้งอยู่ในสถาบันการศึกษา หรือเทศบาล ที่ไหนก็ได้ ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การเงิน วิชาการ และประสบการณ์ SMEs ทำการส่งเสริมเป็นทีม เมื่อมี “ชาวบ้าน” คนหนึ่ง หรือ “กลุ่มหนึ่ง” สนใจการประกอบการก็จะไปปรึกษากับศูนย์นี้ โดยไปขอ “ตั๋วส่งเสริม” จากเทศบาล
เมื่อบุคคลหรือกลุ่มไปรับการปรึกษาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญก็จะมอบ “ตั๋วส่งเสริม” ให้ผู้เชี่ยวชาญนำตั๋วไป “ขึ้นเงิน” ที่เทศบาล เป็นค่าตอบแทน ผู้เชี่ยวชาญก็จะติดตามช่วยเหลือไปจนกว่าจะตั้งตัวได้
ในการประเมิน 10 ปีนั้นพบว่า SMEs ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจาก BG ประสบผลสำเร็จถึงร้อยละ 70 ซึ่งนับว่าสูงมาก ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่การพิจารณาช่วยเหลือแต่ละกรณีเป็นการเฉพาะ โดยการวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละคนแต่ละกลุ่มอย่างละเอียด และให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องยาวนานจน “เดินได้เอง”
คู่ขนานไปกับ BG มีอีกองค์กรหนึ่งชื่อว่า SIDI (Solidarite Internationale pour le Developpement et d’Investissement) ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดบริษัทร่วมทุนชนบทของไทย ที่คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เคยเป็นประธาน โดยใช้แนวคิดเดียวกับ SIDI คือ ให้การส่งเสริมสนับสนุน SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชน ทั้งวิชาการและไปร่วมทุนด้วยใน 5 ปีแรก จากนั้นจึงขายหุ้นคืนให้คนท้องถิ่น
แนวคิดและประสบการณ์ของอิตาลี โดยเฉพาะที่แควันเอมีเลีย โรมาญา ที่มีโบโลญญา เป็นเมืองหลวงนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบการส่งเสริม SMEs และนี่คือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังพ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนของไทย โดยมีผลงานวิจัยสำคัญของศาสตราจารย์ฌอง เปียร์ ฮุสเซล ชาวฝรั่งเศสที่พบว่า SMEs ของอิตาลีมีอิทธิพลอย่างสำคัญและเป็นต้นแบบระบบเศรษฐกิจในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนอย่างกรีซ ตุรกี สเปนและแอฟริกาเหนือ
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของ SMEs อิตาลี คือ การมีกฎหมายที่ให้การส่งเสริม ให้เป็นนิติบุคคล มีสถาบันวิชาการที่ก่อตั้งเพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีกองทุนเพื่อการสนับสนุนโดยตรง
ขณะที่รัฐสภาและรัฐบาลไทยปฏิเสธทั้ง 3 ประเด็นนี้ในพ.ร.บ. อ้างว่า มีพ.ร.บ.สหกรณ์ มีบริษัทอยู่แล้ว มีสถาบันอุดมศึกษาที่วิจัยและสอนเรื่องธุรกิจอยู่แล้ว มีธนาคารรัฐ เอกชนที่ส่งเสริมด้านทุนอยู่แล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไม 70,000 กว่าวิสาหกิจชุมชนไทยจึงยังเป็นง่อยอยู่จนถึงวันนี้
ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้ไปวิจัยที่เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน พบหลายปัจจัยที่คล้ายกับที่อิตาลี ที่ทำให้เกิด SMEs ที่มีเป็นรากฐานของเศรษฐกิจของท้องถิ่นและของประเทศ
เคยเชิญศาสตราจารย์ท่านนี้มาเมืองไทย 1 เดือน ท่านอ่านข้อมูลต่างๆ แล้วให้ข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ไทยไม่พัฒนาเพราะระดับการศึกษาของพลเมืองค่อนข้างต่ำ มีการให้การสนับสนุนด้านการเงินก็จริง แต่จำกัดเพราะเสี่ยงสูง เศรษฐกิจที่ต้องใช้ความรู้ การศึกษาเท่านี้คงไม่พอเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง
ศ.ดร.กุนเธอร์ ฟัลติน ผู้เขียนหนังสือ “ความคิดมีค่ากว่าเงิน” ที่แปลเป็นไทยและอีกสิบกว่าภาษาบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์คือหัวใจของการพัฒนาการประกอบการ ซึ่งต้องมาจากการศึกษา การเรียนรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปท่องจำมาจากตำราบริหารธุรกิจ ซึ่บางครั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา SMEs และไม่มีทางทำให้เกิดสตาร์ตอัพได้ ซึ่งล้วนมาจากความคิดสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่เป็นของคนหนุ่มสาวที่คิดนอกกรอบ
ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ที่ประสบความสำเร็จสูงมากจากการลงมือทำการประกอบการเองเป็นตัวอย่างบอกว่า การประกอบการเล็ก มีข้อได้เปรียบ (comparative advantage) พวกใหญ่ๆ หรือยักษ์ใหญ่ เพราะจะมีความคล่องตัว ลื่นไหลได้ดีกว่า เหมือนเรือยนต์เล็ก ที่วิ่งได้เร็วและปรับเปลี่ยนทิศทางได้ง่ายกว่าเรือใหญ่
แต่อย่างว่า ถ้าเรือเล็กไม่มีน้ำมันก็คงวิ่งไม่ได้ มีปัญญาแต่ไม่มีทรัพย์ก็อับจนได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่า จะใช้ปัญญาในการระดมทุนได้อย่างไร เพราะแม้แต่เงินต้นเริ่มแรกก็ยังไม่มี
อยากเสนอให้พรรคการเมืองที่ต้องการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ไปศึกษาดูงาน (จริงๆ) ที่อิตาลีและที่ไต้หวัน จะได้บทเรียนสำคัญเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจบ้านเรา เพราะถ้าระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่เกิดก็ยากที่เมืองไทยจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างที่วาดฝัน เพราะความเหลื่อมล้ำชนบทกับเมืองยังมากเกิน
บ้านเมืองก็จะอยู่ในลักษณะเตี้ยอุ้มค้อมกันต่อไป เศรษฐกิจใหญ่ก็ต่ำเตี้ย เศรษฐกิจท้องถิ่นก็ย่ำแย่ รัฐบาลอ้างโควิดแก้ตัวไม่ได้ เพราะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และฝีมือวัดได้จากความสามารถในการบริหารวิกฤติ