เมื่อโควิดเข้ามากระทบต่อสังคมไทย ก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายด้าน นอกจากส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อะบบเศรษฐกิจ และโครงสร้างของสังคม พฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามวิถีใหม่ เพื่อปกป้องตนเองจากเชื้อไวรัส ก่อเกิดไวรัสกัดกินจิตใจเป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็น กระทั่งมันระเบิดออกมา ก็สายเกินไปเสียแล้ว ในช่วงที่การระบาดยาวนานและการดำเนินชีวิตที่เป็นไปอย่างยากลำบาก ความแข็งแรงทางด้านจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญพอๆกับร่างกายในการเผชิญสถานการณ์ ที่แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อน เพื่อพยุงค่าครองชีพของคนกลุ่มต่างๆ แต่ความกดดันที่ประชาชนต้องแบกรับจากสถานการณ์เป็นสิ่งที่ต้องการการเยียวยาและช่วยเหลือไม่แพ้กัน จึงได้เขียนในที่นี้ถึงบทบาทในการเข้าถึงการดูแลทางด้านจิตใจในเชิงรุก แม้ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตมีเครือข่ายและสื่อสารในโลกออนไลน์ได้อย่างดี ที่ช่วยกันเฝ้าระวังแต่ปัญหาสุขภาพจิตแต่ก็อาจยังไม่เพียงพอ ซึ่งวันนี้มีทิศทางที่ดี เมื่อกระทรวงสาธาณสุขเล็งเห็นความสำคัญ โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานว่า นอกจากวัคซีนทางร่างกายที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการฉีดให้ครอบคลุมให้มากที่สุดแล้ว ในส่วนของการส่งเสริมวัคซีนใจเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันทางใจ (Resilience) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในภาวะวิกฤติที่ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้รวมทั้งมีการให้ความสำคัญกับการประเมินสุขภาพจิตในระบบติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต www.วัดใจ. com หรือ ระบบ Mental Health Check In ทั้งนี้ ผลการประเมินจะถูกส่งให้เครือข่ายงานสุขภาพจิต เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือต่อไป อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า ข้อมูล ณ วันที่ 9 มกราคม 2565 จากจำนวนผู้ตอบแบบประเมิน 2,579,026 ราย พบว่า เครียดสูง 216,098 ราย (8.38%) เสี่ยงซึมเศร้า 254,243 ราย (9.86 %) เสี่ยงฆ่าตัวตาย 140,939 ราย (5.46%) มีภาวะหมดไฟ 25,552 ราย (4.16%) ซึ่งทั้งหมดจะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้การฟื้นฟูสุขภาพจิตในผู้ป่วยที่มีภาวะ Long COVID-19 ที่หลังจากติดเชื้อแล้ว 3 เดือนยังคงมีอาการทั้งทางกายและจิตใจได้อยู่กว่าครึ่ง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแล ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำมาสู่อัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายการดูแลสุขภาพจิตประชาชน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในการประชุมครั้งนี้จึงมีวาระที่สำคัญนอกจากการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ในการการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจของบุคคล ครอบครัว และชุมชนแล้ว ยังมีเรื่องของการลดอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่จากสถานการณ์ COVID-19 อีกด้วย ที่ประชุมยังมีมติให้มีการจัดทำหนังสือต่อประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติลงนามถึงกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขในการสนับสนุนคณะอนุกรรมการการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัด พร้อมทั้งติดตามการทำงานและให้ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขรายงานในการประชุมครั้งถัดไป ถือเป็นบทบาทในเชิงรุกที่จะช่วยกันสกัดปัญหา หวังว่าจะช่วยดับชนวนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ในทุกมุมของประเทศนี้