วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันสำคัญ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของเป็น “วันครู” จุดประสงค์ก็เพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึงพระคุณครูอาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ การใช้ชีวิตและรากฐานการประกอบอาชีพ เพื่อพัฒนาคน ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งคำว่า “ครู” มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 “ครู” น.ผู้สั่งสอนศิษย์,ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ (ป.ครุ ,คุรุ ,ส.คุรุ) เนื่องในวันครูที่เวียนมาบรรจบ จึงขออนุญาตยกเอาบทความเรื่อง แด่คุณครูด้วยดวงใจ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 18 มกราคม 2561 โดย รศ.วันทนา จันทพันธ์ อดีตอนุกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ วุฒิสภา ตอนหนึ่งระบุว่า “วันที่ 16 เดือนมกราคมของทุกปีกำหนดให้เป็น "วันครู" เพื่อระลึกถึงความสำคัญของอาชีพ "ครู" หลายคนคิดว่าใครๆ ก็เป็นครูได้ แต่อย่าลืมว่า "ความเป็นครู" นั้นสำคัญยิ่ง ไม่ใช่แค่สอนได้แต่ครูจะต้องมี "จิตวิญญาณ" ของความเป็นครูในทุกขณะจิต ครูไม่ควรทำสิ่งที่ผิดบาป ต้องมีความยุติธรรม และความเมตตา ฯลฯ ครูจะต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพราะเป็นแม่พิมพ์หรือเป็นต้นแบบในทางที่ดีงาม คำว่าครูมาจากคำว่าคุรุ แปลว่า หนัก เพราะมีภาระรับผิดชอบชีวิตของศิษย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น จึงเหมือนพ่อ แม่ คนที่สอง หมายถึงครูระดับประถมและมัธยมที่ต้องดูแล ทุกข์ สุขของเด็กอย่างใกล้ชิด ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดี ส่งเสริมให้เป็นคนเก่ง ตามความถนัดและความสามารถ ภาระงานจึงหนักอย่างน่าเห็นใจ ภาพยนตร์เรื่อง "แด่คุณครูด้วยดวงใจ"(To Sir, With love) โด่งดังมากในอดีต เป็นเรื่องราวของครูผิวดำ ที่ต้องอดทนกับความก้าวร้าว และพฤติกรรมแย่ๆของลูกศิษย์ "แต่ความเป็นครู" ที่ยิ่งใหญ่(แสดงโดย ซิดนีย์ ปอยเตียร์ )แสดงให้เห็นถึงความอดทน เมตตา พยายาม จนสามารถเอาชนะใจลูกศิษย์ ทำให้ ทุกคนยอมรับครูและหันมาสนใจเล่าเรียน ตอนจบของเรื่องพร้อมใจกันร้องเพลง...To Sir,With Love ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนที่อยากเป็นครู การทำให้เด็กรักในการเรียน ต้องเริ่มจากตัวครูก่อน ครูที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กจะส่งผลต่อการเรียนในรายวิชานั้นๆและรวมถึงการไม่อยากไปโรงเรียน การใช้จิตวิทยาและเทคนิคการสอน บนพื้นฐานความแตกต่างของเด็กจึงมีความสำคัญยิ่ง ครูไม่ใช่นักแสดงที่จบเป็นฉากเป็นตอน จบแล้วจบเลย แต่ภาระงานของครูต่อเนื่องไปถึงปัญหาของเด็ก และครอบครัว ครูไทยที่ดีๆ มีมาก แต่มักจะไม่เป็นข่าวเพื่อหวังรางวัลใดๆ ขอเพียงศิษย์เป็นคนดี มีอาชีพที่มั่นคง ครูก็สุขใจและภูมิใจปัจจุบันการคัดกรองคุณสมบัติของคนเป็นครูยังหละหลวม ถ้าจะให้ครูประเมิน"ความดี" ของเด็ก ครูต้องเป็นต้นแบบความดีในทุกเรื่องโดยเฉพาะ เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต จิตสำนึกของความเป็นพลเมือง และการตรงต่อเวลาที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ครู นอกจากจะมีงานสอนแล้ว ยังต้องดูแลและให้คำปรึกษาปัญหาส่วนตัวของเด็กที่มีปัญหาแตกต่างกัน รวมถึงเด็กพิเศษ ดังเช่น เด็กคนหนึ่งชื่อ ไบรอันเมน (Brian Mayne) มีอาการดิสเลคเซีย(Dyslexia) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมอง ที่มีผลต่อการอ่านและการเขียน อายุ 14 ปีแล้ว ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จึงเรียนไม่ทันคนอื่น ทำให้เบื่อหน่าย จึงปรึกษาครูว่าอยากลาออกไปหางานทำโชคดีที่เขามีครูดี เพราะได้รับเพียงคำพูดของครูสั้นๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ สามารถพลิกชีวิตของเด็กคนนี้ได้... " If you think you can, you can.If you think you can't you can't and either way you're right" เป็นข้อความที่ครูชื่อ ไมค์ โรสวอร์น(Mike Rose warne) ส่งข้อความทางโทรศัพท์ แปลได้ว่า ถ้าคิดว่าเธอทำได้ เธอก็ทำได้ ถ้าคิดว่าเธอทำไม่ได้ เธอก็ทำไม่ได้ จะคิดอย่างไรเธอก็คิดถูก ...ไม่น่าเชื่อว่าข้อความนี้เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เป็นพลังทางบวกที่ทำให้ ไบรอัน เมน เกิดความคิดว่า จะต้องทำได้ และต้องทำให้ได้ จึงพยายาม อ่าน อ่าน และอ่าน อย่างมุมานะจนสามารถอ่านและเขียนได้ ปัจจุบัน จึงเป็นทั้งนักพูด เป็นวิทยากรที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ใครๆ มากมาย และเป็นนักเขียน เขียนหนังสือจำหน่ายทั่วโลกจะเห็นได้ว่าครูมีอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ สามารถพลิกชีวิตของเด็กได้จริงๆ จึงขอฝากคุณครูให้ใช้คำพูดที่ดี ให้กำลังใจ สร้างพลังบวกดังตัวอย่าง เด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ ครูจึงเปรียบเสมือนนักประติมากรรม ที่ยิ่งใหญ่ การสร้างคนต้องละเอียดอ่อนใจเย็น และมีใจรักอย่างสร้างสรรค์ ในโอกาส "วันครู" ปีนี้ ขอคารวะคุณครูทุกท่าน คอลัมน์ผู้หญิงพลังบวกจะเป็นกำลังใจให้คุณครูสร้างคนดีให้สังคมและยินดีเผยแพร่เกร็ดความรู้ทางด้านจิตวิทยาโดยผ่านทางคอลัมน์นี้ทุกวันพฤหัสบดี ...แด่คุณครู ด้วยดวงใจ”