พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศให้ปี 2565 เป็น "ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน" ให้สำเร็จ นับเป็นโยบายที่ดี ที่หากทำได้จะเป็นการแก้ไขรากเหง้าปัญหาของประเทศไทยได้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว โดยนายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางหลักๆ 8 แนวทางในการแก้หนี้ 8 แนวทาง ทั้งการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้ การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย และ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.5% เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาท/ครัวเรือนและเพิ่มขึ้นประมาณ 18.4% จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาท/ครัวเรือน ทั้งนี้ หนี้สินส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการเกษตร ได้แก่ การซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบ และเป็นหนี้สินระยะยาว มากกว่า 5 ปีขึ้นไป ภาคใต้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินนอกการเกษตร เช่น ซื้อที่ดิน/ทรัพย์สินนอกการเกษตร ลงทุนในธุรกิจนอกการเกษตร การศึกษา และเพื่อการอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ผ่านกลไกและมาตรการต่างๆ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 5 ที่เป็นผลงานของโอไมครอนนั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำสงครามแก้หนี้ของนายกรัฐมนตรี ที่หนี้เดิมก็ต้องแก้ให้สะเด็ดน้ำ และป้องกันไม่ให้มีหนี้ใหม่